กอปศ.เร่งทำรายงานก่อนหมดวาระอีก 2 เดือน สรุปการปฏิรูปการศึกษา พร้อมเสนอทางเลือกไขปัญหาใส่มือรัฐบาล ลุ้นคลอดกฎหมายการศึกษาชาติ หลัง ครม.ให้ความเห็นพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่สำคัญต้องออกเป็นพระราชกำหนด
วันนี้ (2 เม.ย.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า บอร์ด กอปศ.จะหมดวาระ ในวันที่ 30 พ.ค.2562 จึงมีระยะเวลาการดำเนินงานอีกแค่ 2 เดือน โดยที่ประชุมได้รวบรวมสิ่งที่ได้ทำมาตลอด 2 ปี นอกเหนือจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ได้เสนอรัฐบาลไปแล้ว ยังมีข้อมูล ข้อคิดเห็น และประเด็นปัญหาที่หลงเหลือ ตลอกจนแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่ง กอปศ.จะทำเป็นรายงานของ กอปศ.ที่พูดถึงการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด พร้อมทั้งเสนอทางเลือกที่อาจเป็นคำตอบนำไปใช้แก้ไขปัญหา เช่น เรื่องโรงเรียนเอกชน ที่ควรได้รับการแก้ไข อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน ที่มีการควบคุม กำกับเอกชนให้ทำงานได้ลำบาก กฎหมายเกี่ยวกับภาษีและการลดหย่อนภาษีของโรงเรียนเอกชน เป็นต้น คาดว่ารายงานดังกล่าวจะออกได้ภายในกลางเดือน พ.ค.นี้
ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนจำนวน 2.2 ล้านคน จากนักเรียนที่มีอยู่ 7.7 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด และยังมีครูเอกชน 1.4 แสนคน แต่กฎหมายการศึกษาเอกชนยังมีลักษณะการควบคุมมากกว่าส่งเสริม และมีข้อเท็จจริงยืนยันว่าภาครัฐมีความได้เปรียบในการจัดการศึกษามากกว่าเอกชน ทำให้เกิดความยากลำบากกับเอกชน ขณะที่เอกชนมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนได้เร็วกว่า และมีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาต่ำกว่า ซึ่งกฎหมายควรมองเอกชนในลักษณะการแบ่งเบาภาระของรัฐ หากมีการดูแลในจุดนี้ให้ดี ก็จะใช้ประโยชน์จากจุดได้เปรียบของเอกชนมาเป็นประโยชน์ ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้มีการกำหนดเรื่องการดูแลการศึกษาเอกชนไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่องการจัดแผนที่โรงเรียน หรือ สกูลแมปปิ้ง ซึ่งขณะนี้มีแผนที่การกระจายตัวโรงเรียนในส่วนของภาครัฐ แต่ไม่ได้เอาบทบาทของเอกชนเข้ามาดูว่าในจุดนั้นมีโรงเรียนเอกชนแล้ว รัฐไม่ต้องเข้าไป ดังนั้นการทำแผนที่การกระจายตัวของโรงเรียนจะต้องมีทั้งของรัฐและเอกชนอยู่ในแผนที่เดียวกัน และต้องปรับอย่างไรจึงจะให้เกิดประโยชน์
“2 ปีที่ผ่านมา กรรมการ กอปศ.ลงแรงกันไปเยอะ และสังคมมีความคาดหวังสูงมากกับการปฏิรูปครั้งนี้ ซึ่งกอปศ.มีหน้าที่ทำการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงร่างกฎหมายซึ่งก็ออกมาตามที่กำหนด ส่วนผลที่เกิดขึ้นนั้นต้องรอดูการขับเคลื่อนของผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติ เนื่องจากการจัดการรูปแบบของการปฏิรูปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จะต้องขับเคลื่อนต่อจึงจะเกิดการปฏิรูปการศึกษาจริง แต่จากการรับฟังความเห็นในพื้นที่ต่างๆ พบว่า การศึกษาของ กอปศ.ครั้งนี้ทำได้อย่างน่าพึงพอใจ และลึกซึ้งพอสมควร โดยดูการแก้ปัญหาจริงๆที่ต้นตอ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ศ.นพ.จรัส กล่าว
ศ.นพ.จรัส กล่าวด้วยว่า สำหรับการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ นั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีความเห็น ระบุว่าพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่สำคัญ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้มีการปรับปรุงแก้ไข และได้มีการดำเนินการเต็มที่แล้ว ตอนนี้ไม่ทันการพิจารณาของสภานิติบัณญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เลยต้องออกเป็น พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ซึ่งก็เป็นคำตัดสินของรัฐบาล ส่วนจะออกเป็น พ.ร.ก.ได้หรือไม่นั้นก็ต้องรอดู เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง คือ 1.ถ้าไม่ออกในรัฐบาลนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะออกได้หรือไม่ 2.ในการที่ต้องออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้องแก้ไขในหลักการหลายอย่างเยอะมาก ซึ่งกระทบกับคนอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ต้องมีการตัดสินใจที่ดี และ 3. ประเทศไม่ปฏิรูปไม่ได้ อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ปฏิรูปเราจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่แก้ไขปัญหาการศึกษา ณ จุดนี้ โดยมีหลักฐานต่างๆ ยืนยันเต็มที่เลยว่า ปัญหารุนแรงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 2 เมษายน 2562