กพฐ.ชงเองหวังลดเด็กจมน้ำตาย ไม่เพิ่มภาระสร้างสระเน้นพึ่งชุมชน
รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ตนจะเสนอที่ประชุมออกเป็นนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าสถิติเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาแม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะสนับสนุนให้โรงเรียนมีการสอนว่ายน้ำแก่นักเรียน แต่โรงเรียนก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง จึงเห็นว่าต้องออกเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติให้โรงเรียนไปดำเนินการ เพื่อให้โรงเรียนเห็นความสำคัญของการสอนว่ายน้ำ และสอนให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการสอนว่ายน้ำจะต้องไม่ใช่การสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็นอย่างเดียว หรือสอนว่ายน้ำตามท่ามาตรฐาน แต่ต้องสอนให้เด็กมีทักษะการเอาตัวรอดในน้ำด้วย อาทิ การฝึกลอยตัวในน้ำได้
“ที่ผ่านมาการเรียนรู้เรื่องว่ายน้ำเป็นการเรียนรู้แค่ทักษะเบื้องต้น หรือสอนให้เด็กว่ายน้ำตามท่ามาตรฐานเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการสอนทักษะการว่ายน้ำอย่างจริงจังและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ นอกจากนี้ การสอนว่ายน้ำมักจะเริ่มตอนเด็กโตแล้ว อีกทั้งการสอนว่ายน้ำเป็นโครงการที่ทำปีละไม่กี่คนเท่านั้น ผมมองว่าหาก กพฐ.ออกเรื่องนี้เป็นนโยบายจะทำให้ทุกโรงเรียนถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง จะทำให้เด็กไทยสามารถว่ายน้ำเป็นทุกคน และเชื่อว่าหากทุกโรงเรียนดำเนินการอย่างจริงจังจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำได้” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว
ประธาน กพฐ. กล่าวอีกว่า การออกนโยบายดังกล่าวจะไม่สร้างภาระให้แก่โรงเรียนว่าต้องสร้างสระว่ายน้ำ แต่ให้โรงเรียนบูรณาการใช้สระว่ายน้ำของชุมชน หมู่บ้าน หรือสโมสรในพื้นที่ต่างๆ โดยอาจทำเป็นข้อตกลงร่วมกันในราคาที่ไม่แพง และมีมาตรการทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจภาคเอกชน ส่วนโรงเรียนไหนในพื้นที่ไม่มีสระว่ายน้ำของชุมชนก็อาจประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สร้างสระว่ายน้ำชุมชน หรือสร้างในโรงเรียนที่มีพื้นที่และให้บริการในโรงเรียนใกล้เคียง เชื่อว่าหากเราทำเป็นนโยบายโรงเรียนก็จะพยายามวิ่งหาหน่วยงานที่มีสระว่ายน้ำทันที.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 1 เมษายน 2562