“หมออุดม”ย้ำเด็กเรียนต่อมหา’ลัยลดจริง อธิการบดีจุฬาฯชี้ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาไม่ได้แข่งกันเอง แต่เป็นหลักสูตรออนไลน์ ส่วน”สุชัชวีร์”มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างแรงก่อนล่มสลาย
วันนี้ ( 27 มี ค.) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการความรูู้และความเป็นผู้นำทางการศึกษา จัดเสวนาเรื่องความล่มสลายของอุดมศึกษาในยุคของการเปลี่ยนผ่าน โดย ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกเปลี่ยนเร็วมาก ทั้งเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมและ ภาคธุรกิจ ขณะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ถ้าอุดมศึกษาไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ประเทศและโลก จะทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ดังมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ทั้งการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีหลักสูตรรองรับ ผู้เรียนของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยคนทุกวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้วิกฤตมหาวิทยาลัยไทย คือจำนวนนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท ปี 2556 จำนวน 172,432 คน ปี 2560 จำนวน 112,164 คน ในปี2556 มีนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี จำนวน 1,875,149 คน ปี 2560 จำนวน 1,681,149 คน หากเปรียบเทียบจำนวนนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีตามสังกัด มีดังนี้ มหาวิทยาลัยรัฐ ปี 2556 จำนวน 665,342 คน ปี2560 จำนวน329,027 คน มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ปี 2556 จำนวน 236,622 คน ปี 2560 จำนวน 481,854 คน มหาวิทยาลัยราชภัฎ ปี 2556 จำนวน 562,491 คน ปี 2560 จำนวน 475,611 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปี 2556 จำนวน141,893 คน ปี2560 จำนวน 135,712 คน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี 2556 จำนวน 268,801 คน ปี 2560 จำนวน 258,895 คน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ถึงขั้นล่มสลายอุดมศึกษา แต่ปั่นป่วนของอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการปั่นป่วนที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งตอนนี้คู่แข่งมหาวิทยาลัยไม่ใช่มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่เป็นหลักสูตรออนไลน์ ดังนั้นตลาดของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กไทยแต่เป็นตลาดระดับโลก ต้องรับเด็กจากทั่วโลกมาเรียนด้วย ส่วนมหาวิทยาลัยจะอยู่รอดต้องทำ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ 2. มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และ 3.ต้องสร้างผลกระทบให้เป็นมูลค่าและเกิดผลในรูปธรรมชัดเจน **ตอนนี้คู่แข่งมหาวิทยาลัยไม่ใช่มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่เป็นหลักสูตรออนไลน์ สำหรับจุฬาฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสอนเป็นกระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยจะเป็นคนกลางในการนำความรู้จากหนังสือมาเล่าให้เด็กฟังไม่ได้ สร้างคุณค่าในการเรียนรู้ และจากการเน้นผลลัพธ์ ต้องเปลี่ยนเป็นเน้นกระบวนการ รวมถึงใช้การบริหารงานนำกฎระเบียบต่างๆ
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า โลกเข้าสู่ยุคของการทำลาย เพื่อการเกิดใหม่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพราะจำนวนผู้เรียนลดลง จากตัวเลขผู้สมัครทีแคสปี 2562 พบว่า มีคนลงทะเบียนแล้ว แค่ 269,000 คน ขณะที่คุณค่าของปริญญาบัตรก็ลดลง มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก เปิดหลักสูตรออนไลน์ให้คนเรียนฟรี ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างแรง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 27 มีนาคม 2562