เลขาธิการ กพฐ.เผยผลทดสอบการอ่านเด็กป.1 พอใจร้อยละ 70 มอบโจทย์วิเคราะคุณภาพความสำเร็จและไม่สำเร็จ เพื่อพัฒนาเก็บเป็นคลังข้อมูลในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในอนาคต
วันนี้ (26 มี.ค.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สำนักทดสอบทางการศึกษาของสพฐ.ได้รายงานผลการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกสังกัดทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งพบว่านักเรียนชั้นป.1 มีอัตราการอ่านออกเขียนที่ร้อยละ 70 เป็นที่น่าพอใจ โดยหลังจากนี้ตนได้มอบหมายให้ทุกสำนักของสพฐ.ที่เกี่ยวข้องกับงานประเมินพุ่งเป้าหมายการสำรวจและวิเคราะห์ผลการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนป.1 และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นอย่างไร โดยให้โฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มโรงเรียน สำหรับการวิเคราะห์ตนได้มอบโจทย์ในเรื่องนี้ 3 ประเด็น ได้แก่ ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรค และการถอดบทเรียนโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากโรงเรียนสพฐ.มีจำนวนมากและการจัดการเรียนการสอนก็มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้จะต้องสรุปผลการวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้
“สิ่งที่ สพฐ.ต้องการให้มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินการนวัตกรรมการอ่านออกเขียนได้ของโรงเรียนแต่ละแห่งนั้น เพื่อต้องการให้เกิดคลังข้อมูลบริการให้แก่โรงเรียนในสังกัดอื่นๆที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่ง สพฐ.ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการทำงานเฉพาะการเห็นความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากตัวเด็ก เพราะถ้าสิ่งใดทำโดยงบประมาณราชการแล้วไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวนักเรียนเราก็ไม่ควรสนับสนุนกิจกรรมนั้นๆอีก หรือหากสิ่งที่ทำอยู่มีผลลัพธ์ที่ดีต่อเด็กก็ต้องไปดูอีกว่าผลสำเร็จนั้นทำมาถูกทิศทางหรือไม่ เช่น การประชุมอบรมครูที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ครูในการเดินทางเราก็อาจเปลี่ยนมาเป็นอบรมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนท์แทนได้ เป็นต้น และเงินที่เหลือก็สามารถนำมาเติมเต็มให้โรงเรียนนำไปใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ ขณะเดียวกันเมื่อเรามี รมว.ศธ.คนใหม่เราจะได้มีข้อมูลดังกล่าวเก็บไว้ หรือหากสังคมอยากรู้ว่าคุณภาพนักเรียนไม่ดีตรงจุดไหนเราจะได้มีคำตอบ เพราะหากใครอยากเข้ามาสนับสนุนการศึกษาจะมีข้อมูลตรงนี้บอกว่าการศึกษาไทยยังด้อยตรงส่วนไหนและขาดการสนับสนุนในเรื่องใด ซึ่งจะได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุดสำหรับอนาคตต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562