กอปศ.รวบรวมปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมยื่นข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาก่อนอำลาเก้าอี้ 29 พ.ค.ย้ำทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
จากการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) วันที่ 26 มี.ค. ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า กอปศ.ได้พิจารณาปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและมาตรการในการดูแลโรงเรียนขนาดเล็กเสนอไปยังรัฐบาล โดยจะเป็นหนึ่งในปัญหาและข้อเสนอแนะด้านการศึกษาที่ กอปศ.จะเสนอต่อรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะเห็นชอบและดำเนินการหรือไม่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณา ทั้งนี้กอปศ.จะเร่งรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอไปยังรัฐบาลก่อนที่จะครบวาระของกอปศ.ในวันที่ 29 พ.ค.นี้
ด้าน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า กอปศ.ได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอเสนอของโรงเรียนขนาดเล็ก และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้1. เสนอให้มีการดูแลจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเป็นกรณีพิเศษ โดยให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงาน กลุ่มหรือบุคคลก็ได้โดยไม่ใช่เป็นการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพราะปัญหาหนึ่งของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ความขาดแคนทั้งครูผู้สอน วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนที่วันนี้ยังใช้หลักสูตรเดียวกันกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ท่ามกลางความขาดแคลน ครูไม่ครบชั้น สื่อไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรมีผู้เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรด้วย 2. ข้อมูลของโรงเรียนขนาดเล็กต้องเป็นบิ๊กดาต้า ที่เก็บสภาพรายละเอียดของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นรายโรง ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการและการสนับสนุนโรงเรียน ที่แต่ละโรงมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ครูผู้สอน และจำนวนเด็ก ที่จะได้คำนวณจัดเงินค่าอุดหนุนรายหัวลงไปตรงตามสภาพที่เป็นจริง ทั้งนี้ได้เสนอให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ ดิจิทัลแพลทฟอร์มเข้าไปช่วยด้วย
ดร.วัฒนาพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับ ข้อ 3. เสนอให้มีกฎหมาย กฎกระทรวงหรือระเบียบเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้การบริหารงานมีคามคล่องตัว เนื่องจากทุกวันนี้ใช้กฎหมายทั่วไปเข้าไปดูแล ทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน งบประมาณ การจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัว ที่จำเป็นต้องมีกฎ ระเบียบรองรับพิเศษ 4. ส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปช่วยเหลือดูแลโรงเรียนเป็นรายโรงให้มากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีเรื่องของโรงเรียนประชารัฐ แต่ส่วนใหญ่ก็มาช่วยในโรงเรียนที่มีความพร้อมพอสมควรแล้ว จึงเสนอให้ใช้มาตรการภาษีมาเป็นมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กให้มากขึ้น 5.ปรับระเบียบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัว โดยควรแยกค่าใช้จ่ายรายหัวโรงเรียนขนาดเล็กออกมาต่างหาก 6.กำหนดขนาดโรงเรียนให้มีความเหมาะสม เพื่อลดการดึงเด็กเพื่อเพิ่มขนาดโรงเรียน และให้สามารถดูแลเด็กได้เต็มที่ และ7.รัฐต้องดูแลโรงเรียนขนาดเล็กของทุกสังกัดอย่างทั่วถึงเพื่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กทั้งประเทศขึ้นมา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562