“บุญรักษ์” ปลื้ม ครม.เห็นชอบคืนอัตราเกษียณอายุราชการให้โรงเรียนที่มีเด็กตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป เชื่อเติมเต็มคุณภาพการศึกษา นักเรียนเฮได้ครูครบชั้น
วันนี้ (20 มี.ค.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย ครม.เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2662-2565) โดยกำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถจัดสรรอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการคืนในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไปได้จากแต่เดิมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนด ก.ค.ศ. สามารถจัดสรรอัตราว่างฯ คืนตำแหน่งสถานศึกษาได้ ในกรณีที่มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า 250 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2561 ก.ค.ศ. จึงไม่สามารถจัดสรรอัตราเกษียณคืนให้กับสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 250 คน รวม 11,839 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 10.50 ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษาและปัญหาการขาดแคลนครูจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสพฐ.จะรอมติอย่างเป็นทางจากการก.ค.ศ.แจ้งมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังโรงเรียนและเขตพื้นที่ได้ประสานงานร่วมกันในการคำนวณอัตรากำลังที่เราจะต้องจัดสรรให้โรงเรียนต่อไป โดยคาดว่าจะจัดสรรอัตราเกษียณได้ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2562 ทันที
“ส่วนสถานศึกษาที่มีนักเรียน 120 คนขึ้นไปจะมีกี่แห่งนั้น สพฐ.ยังไม่ได้มีการสำรวจขอรอแจ้งมติอย่างเป็นทางการจากก.ค.ศ.ก่อน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องดีที่เราได้รับการคืนอัตราเกษียณอายุราชการ เพราะอย่างน้อยโรงเรียนที่มีเด็กตั้งแต่ 120 คนจะได้มีความพร้อมเรื่องครู โดยครูปัจจัยสำคัญเป็นเหมือนต้นน้ำของคุณภาพ ที่เราต้องดำเนินการการให้มีครูครบชั้น เพื่อเพิ่มคุณภาพโรงเรียนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” นายบุญรักษ์ กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่า ครม.มีมติเห็นชอบคณะกรรมการพิซาแห่งชาติ โดยมีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเลขาธิการ กพฐ. เป็นรองประธาน ซึ่งแม้นพ.ธีระเกียรติ จะหมดวาระการเป็น รมว.ศธ.แล้วแต่ยังได้เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้อยู่ เพราะเป็นการแต่งตั้งตัวบุคคลไม่ได้แต่งตั้งโดยตำแหน่ง ทั้งนี้การประเมินพิซาถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของคุณภาพคนในประเทศนั้น ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เน้นการคิดวิเคราะห์มากขึ้นไม่เน้นท่องจำ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 20 มีนาคม 2562