ระบบนิเวศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าที่คิด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) มีมาอย่างยาวนานและมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทราบได้จากข่าวสารเกี่ยวกับกระแสคลื่นความร้อนและความเย็นที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ล่าสุดได้เกิดปรากฏการณ์ “ลมวนขั้วโลก” หรือ “โพลาร์วอร์เท็กซ์” ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้สภาวะอากาศหนาวจัดจนอุณหภูมิติดลบกว่า 40 องศา ส่งผลกระทบทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย
ในส่วนของประเทศไทยก็เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศนิ่ง (Air stagnation) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการท่องเที่ยว ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน จะต้องตระหนักถึงต้นเหตุของปัญหามลภาวะ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเหล่านี้ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้ขยายวงมากขึ้นไปอีก โดยเริ่มต้นที่จิตสำนึกของตัวเราเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
จากปัญหาดังกล่าว บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝัง สร้างค่านิยม สร้างเครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์ ที่จะสานต่อในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดทำ โครงการ PTTEP Teenergy มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี และปีที่ 5 นี้ เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนใส่ใจกับปัญหาใกล้ตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงเน้นเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนใส่ใจกับปัญหาใกล้ตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นหลัก พร้อมกับนำแนวคิด STEM หรือ 'สเต็มศึกษา' มาปรับใช้กับกิจกรรมค่ายครั้งนี้ด้วย ภายในค่ายมีกิจกรรมเวิร์กชอปภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate) จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้น้อง ๆ นำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันคิดไปช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาในโรงเรียนหรือชุมชนของตนเองได้จริง ซึ่งโครงการของน้อง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ปตท.สผ.จะสนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการ
น้องจุ๊บแจง หรือนางสาวพัชราภรณ์ ชูแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สมาชิกกลุ่ม “เก้าอี้เปลี่ยนโลก D.I.Y (Do It Yourself)” ทำได้ด้วยคุณเอง ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนจาก PTTEP Teenergy ในการดำเนินโครงการ เล่าถึงแนวคิดของโครงการว่า
“ที่โรงเรียนหนูมีการใช้ขวดพลาสติกเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มาจากเพื่อนๆ ที่ซื้อน้ำดื่มเป็นประจำทุกวันในโรงอาหาร ทำให้ขยะพลาสติกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หนูและเพื่อนๆ ในกลุ่มก็ช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร จนตกผลึกความคิด นำขวดพลาสติกและซองขนมต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นเก้าอี้นั่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ มีการลองผิดลองถูกอยู่นาน จนในที่สุดได้รูปแบบเก้าอี้ที่มีความแข็งแรงทนทาน สวยงาม และนำไปใช้ได้จริง”
น้องจุ๊บแจงเล่าถึงวิธีการทำเก้าอี้นั่งว่า เริ่มจากการนำขวดน้ำพลาสติกจำนวน 20-30 ชิ้นมามัดรวมกัน นำเศษถุงพลาสติกใส่ข้างในขวดให้เต็มเพื่อเพิ่มความทนทาน จากนั้นมัดรวมด้วยเชือกและทำผ้าคลุมหุ้มให้สวยงาม เพียงเท่านี้ก็จะได้เก้าอี้ที่เป็นเบาะนั่ง แบบ D.I.Y ที่ช่วยลดโลกร้อนได้ โดยเก้าอี้ที่ผลิตเสร็จแล้ว จะนำไปมอบให้กับห้องสมุดและสถานที่สาธารณะในชุมชน พร้อมใช้ในโรงเรียนต่อไป
หากขยายผลโครงการนี้ ไปยังนักเรียนกลุ่มอื่นๆ และคนในชุมชนให้เห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ และนำกลับมาชุบชีวิตและใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกครั้งแบบนี้ ก็จะสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นเก้าอี้ที่ใช้งานได้ สามารถนำไปจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้สู่โรงเรียนและชุมชนในอนาคตได้อีกด้วย
นี่คือหนึ่งในโครงการที่เยาวชนสร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมค่ายโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. ซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3 ป. คือ ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน โดยเชื่อมั่นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการก้าวออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น