กอปศ.แจง 2 ประเด็น "ครูใหญ่" - "ใบรับรองความเป็นครู" พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้กว้าง ๆ จะใช้หรือไม่ก็ได้
วันนี้(12 มี.ค.) รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ฐานะประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อยู่ในขั้นการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะส่งกลับมาที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่เนื่องจากร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีสาระที่สร้างความกังวลให้แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะคำว่า “ครูใหญ่” ซึ่งเป็นคำที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไว้ นั้น ขอยืนยันว่าในการปฏิรูปการศึกษาให้ความสำคัญกับผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในส่วนของการดูแลครูให้เป็นครูที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู และมีความเป็นหัวหน้าครู จึงใช้คำว่าให้มีครูใหญ่เป็นหัวหน้าสถานศึกษา โดยในมาตรา 39 วรรค 3 ระบุว่า ครูใหญ่ หรือ ผู้ช่วยครูใหญ่ จะใช้คำอื่นก็ได้ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งหรือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะกำหนด เพาะฉะนั้นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่ได้กำหนดว่า ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องใช้คำว่า “ครูใหญ่” จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาสบายใจได้ อีกทั้งในบทเฉพาะกาลยังได้ให้การคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีข้อบังคับว่าต้องเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นครูใหญ่
รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องใบรับรองความเป็นครู ที่อาจจะเข้าใจว่า ออกให้ใครก็ได้ แต่ใบรับรองความเป็นครูยังให้ความสำคัญกับความเป็นครูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่แค่การประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทั่วไป แต่เป็นบุคคลที่ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะ เป็นการยกระดับเกียรติและศักดิ์ศรีมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การจะเรียกชื่อใบรับรองความเป็นครูที่ชัดเจนว่าอย่างไร สุดท้ายจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และขอยืนยันว่าใบรับรองความเป็นครูจะไม่ทำให้ความเป็นครูด้อยลง
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า โดยหลักการทั้ง 2 ประเด็นมีเจตนาให้ความสำคัญกับครูและผู้บริหาร ไม่ได้ทำให้มีสถานะลดลง ส่วนจะไปตั้งชื่อว่าอย่างไรต้องรอกฎหมายรองจะกำหนดว่าอย่างไร อย่างไรก็ตามยอมรับว่าที่ทำให้เกิดความกังวลกันนั้นเป็นเพราะไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จึงทำให้เกิดการตีความและเข้าใจคนละทาง นอกจากนี้ยังมีการเสนอถึงหลักคิดที่จะต้องเร่งให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ คือ เรื่องการกำหนดระบบการศึกษาในอนาคตเป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และ การศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ นายไกรยส ภัทราวาท กรรมการ กอปศ.กำลังศึกษารายละเอียดอยู่
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2562