ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กอปศ.ได้หารือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขรอบที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำขึ้นเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th เพื่อรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 12 มี.ค.นี้
โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อที่จะให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเด็น ครอบคลุมหลักการเกือบทั้งหมดที่ กอปศ.เสนอไป แต่มีการปรับให้อยู่ให้รูปแบบที่ใช้กฎหมายได้ดีขึ้น ซึ่งต้องยกย่องคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เข้าใจการยกร่างกฎหมายว่าควรจะเขียนอย่างไร อาทิ การให้โรงเรียนเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นครูใหญ่ การปรับชื่อใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู ซึ่งมีความหมายมากกว่าวิชาชีพครู ซึ่งประชาชนสามารถที่จะให้ความคิดเห็นได้
“ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้กลายเป็นร่าง พ.ร.บ.ของสังคมที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มุบมิบกันทำและแอบเสนอ ดังนั้น หากใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตรงไหนก็สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ ส่วนภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาล และที่เกรงว่าจะไม่ทันออกเป็นกฎหมายในรัฐบาลนี้ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า”
ประธาน กอปศ.กล่าวและว่า กอปศ.กำลังดำเนินการจัดทำรายงานของ กอปศ.เสนอต่อรัฐบาล โดยจะนำข้อมูลปัญหาทั้งหมดที่ กอปศ.ได้รวบรวมไว้ พร้อมข้อเสนอแนะและข้อคิดต่างๆที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 2 ปี และไม่สามารถบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษานำเสนอต่อรัฐบาล
ขอบคุณที่มาเนื้อหาภาพและข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562