สกสค. คุมกำเนิดหนี้สินครูต่อเนื่อง ยังไม่คลอดโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.8 เสนอปลัด ศธ.แก้ระเบียบหักเงินเดือนชำระหนี้ ให้มีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ
วันนี้(19 ก.พ.)ดร.อรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า สกสค. กำลังดำเนินมาตรการคุมกำเนิดหนี้สินครู โดยไม่ให้ครูก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งในส่วนของโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) หยุดอยู่ที่โครงการช.พ.ค.7 จะยังไม่เริ่มโครงการ ช.พ.ค.8 เพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน และการปล่อยกู้ในโครงการต่างๆต่อไป ก็ต้องพิจารณาความจำเป็นเป็นรายๆ จะไม่ให้กู้ไปใช้ฟุ่มเฟือย
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อไปว่า สกสค.ได้ส่งหนังสือเสนอ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ให้พิจารณาแก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551ที่กำหนดว่า การหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขณะที่ครูแต่ละคนมีเงินเดือนไม่เท่ากันเงินที่เหลืออาจไม่พอดำรงชีพ ดังนั้น ควรปรับเป็นมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ควรเสนอรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่าต้นสังกัดต้องหักเงินใช้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอันดับแรก ซึ่งผู้กู้อาจมีหนี้จากแหล่งอื่นมาก่อน ดังนั้น ควรหักเงินชำระหนี้ตามลำดับการกู้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดให้หักเงินเดือนชำระหนี้ก่อนเป็นลำดับแรกอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งก็ไม่รู้ต้องหักให้ใครก่อน ส่วนมาตรการอื่นๆนั้น สกสค.จะพยายามเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับทางธนาคารออมสิน เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ห่างกันค่อนข้างมาก
ดร.อรรถพล กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีทวงเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการ ช.พ.ค. จากธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารออมสินได้หักเงินจากบัญชีกองทุนฯไปชำระหนี้แทนครู ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาธนาคารออมสินทยอยคืนเงินมาบ้างแล้ว หลังจากยกเลิกบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมและมีมาตรการคืนเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ให้แก่ครูโดยตรง ทำให้มีครูมาชำระหนี้เพิ่มขึ้น อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเรื่อย ๆ ธนาคารออมสินจึงนำเงินที่ครูชำระหนี้มาคืนให้สกสค. โดยมียอดรวมที่คืนแล้วประมาณ 1,100 ล้านบาท แผนต่อไปที่จะดำเนินการ คือ ปรับข้อมูลของสกสค. และธนาคารออมสินให้ตรงกัน จากนั้นจะส่งให้สกสค.จังหวัด และให้ธนาคารออมสินออกหนังสือทวงเงินจากครูที่หักเงินจากบัญชีกองทุนไปชำระหนี้ คาดว่าจะเริ่มทวงจากรายที่มีหนี้น้อยก่อน เพื่อไม่ให้เสียประวัติ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562