มูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานบุคคลดีเด่น สาขาครูก่อนประถมศึกษา นางจุฬาลักษณ์ พงษ์สังข์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดไม้ตราสมาชิการาม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สพป. พระนครศรีอยุธยาเขต 2 ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติมูลนิธิฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2558 เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติงานด้านการศึกษาที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง
นางจุฬาลักษณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นครูสอนระดับปฐมวัยกว่า 36 ปี และร่วมเป็นคณะทำงานหลักสูตรและคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ปี 2546 และปี 2560 และเป็นคณะทำงานจัดทำ เครื่องมือประเมินพัฒนาการนักเรียนจบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย จึงได้ยึดหลักการการจัดการศึกษาปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและด้วยความลุ่มลึกที่ได้เป็นครูผู้สอนปฐมวัย จึงรู้ว่าสมองของเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่พร้อมที่จะรับพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าวัยอนุบาลใส่เรื่อง วิชาการเน้นอ่าน เขียนลงไปก็ได้ เพราะเด็กรับได้แต่ทำไมจะต้องรีบยัด เยียดเร่งอ่านเร่งเขียน เมื่อเด็กขึ้นระดับประถมศึกษาก็มีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเด็กอยู่ในช่วงปฐมวัย จึงควรเตรียมความพร้อมตามหลักสูตร ซึ่งเด็กควรถูกพัฒนาโดยองค์รวมในพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา โดยผนวกความสุข ผนวกการเรียนรู้ด้วยการกระทำด้วยตนเองในลักษณะของ Active Learning คือการเรียนรู้จากการลงมือกระทำอย่างอิสระในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยากรู้อยากเรียน เพื่อครูจะได้รู้ศักยภาพของเด็กมากกว่าการนำกรอบไปครอบเด็กหรือไปนำหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาเร่งรัดเด็ก ดังนั้น ตรงรอยเชื่อมต่อระหว่างปฐมวัยและประถมศึกษาต้องมาศึกษากันให้เข้าใจ
นางจุฬาลักษณ์ กล่าวต่อว่า แม้จะจัดการศึกษาตามหลักสูตรปฐมวัย ครูต้องนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการสอนในชั้นเรียนด้วย ซึ่งได้นำนวัตกรรมเรื่องการสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language) การสอนตามแนวคิด (High Scope) การสอนแบบโครงการ (Project Approach) กิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โดยเฉพาะการสอนตามแนวคิด High Scope เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลายด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น โดยการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มวางแผนการเล่น การทำกิจกรรมอย่างอิสระผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเองทำให้เกิดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตั้งแต่การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) และการทบทวน (Review) ซึ่งประโยชน์และผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กพบว่าเด็กมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น เด็กได้ลงมือทำฝึกการวางแผน ทำงานอย่างเป็นระบบขั้นตอน และทำให้เด็กมีสมาธิเกิดปัญญา มีระเบียบ วินัย ได้ฝึกการคิดอย่างมีความหมาย จนเกิดผลความสำเร็จที่ทำให้เด็กมีความสุขในการทำงานที่สนใจ
“ด้วยบริบทครอบครัว 80% อยู่ในครอบครัวไม่สมบูรณ์ พ่อ-แม่แยกทางกัน เด็กถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ ย่า ตายาย ส่งผลให้ขาดวินัย พูดไม่ไพเราะ ขาดความอบอุ่น แต่เด็กยังต้องการความสุข ดังนั้น ความสุขของเด็กวัย 3-5 ปี คือ การได้เล่น ได้ทำอย่างอิสระ การไม่โดนขัดขวาง การได้ทำตามความรู้สึกของตนเอง จึงได้นำความสุขของเด็กมาออกแบบและวางแผน ซึ่งการสอนตามแนวคิด High Scope ตอบโจทย์ได้ตรงกับปัญหาของเรา นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาที่สุดของการเป็นครูปฐมวัยคือครูต้องแม่นในพัฒนาการเด็กและมีความชัดเจนในเรื่องหลักการของจัดการศึกษาปฐมวัย เพื่อนำสู่การชี้แจงและการทำความเข้าใจกับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่าหลักการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบันทำให้ลูกหลานเก่งได้แน่นอน เพราะปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต้องการให้ลูกเก่ง แต่ลืมนึกถึงความสุขของ ลูกยัดเยียดความเก่งอย่างเดียว ซึ่งความเก่งเด็กทำได้เพราะสมองเด็กเปิดพร้อมรับการพัฒนอย่างเต็มที่ แต่เด็กทำได้อย่างไม่มีความสุข เราพยายามหากิจกรรมที่ให้ความสุขกับเด็ก ทุกวันนี้เด็กเปรียบเสมือนผ้าสีเทาที่ถูกแปดเปื้อนไปจากเทคโนโลยีและวิธีการเลี้ยงดูที่ผิด ณ วันนี้ อย่ากระตุ้นการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ปลายทาง การจะพลิกฝ่ามือพลิกการศึกษาต้องให้ความร่วมมือกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องปูพื้นฐานสร้างความสุขความรักความอบอุ่นในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน” นางจุฬาลักษณ์ กล่าว