ขะลำ คืออะไร มาจากไหน เหตุผลมีหรือไม่ ประโยชน์โทษเป็นอย่างไร ช่วยสร้างสุขภาพได้จริงหรือ
ขอเชิญท่านติดตามต่อไป......
ขะลำ คืออะไร
ขะลำ ชาวอีสานมักพูดเป็น คะลำ หรือ กะลำ พจนานุกรมภาคอีสาน - ภาคกลาง ฉบับปณิธานสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถระ) พ.ศ.2515 ใช้คำว่า กะลำ หมายถึง ของต้องห้าม หรือสิ่งต้องห้าม ใกล้เคียงกับคำภาษาอังกฤษว่า Taboo (แทะบู) หมายถึง ห้าม ข้อห้าม ข้อห้ามตามขนบธรรมเนียม
พระอริยานุวัตร เขมจารี ให้ความความหมายว่า กะลำ หมายถึงการกระทำที่ไม่เป็นมงคล ไม่สมควรทำ เพราะเป็นการไม่ดี เสียศักดิ์ศรีแห่งตน
อาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ อธิบายว่า กะลำ เป็นมาตรการควบคุมความประพฤติของประชาชน ชาวอีสานยึดถือกันอย่างเคร่งครัดมาแต่โบราณกาล ถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ชาวอีสานรุ่นก่อนท่านจะสอนลูกหลานรับช่วงกันมา โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบาย ชี้แจงแสดงเหตุผลให้ยืดยาว แต่ลูกหลานก็เข้าใจและปฏิบัติตามกันมาอย่างเรียบร้อย น่าเสียดายว่าปัจจุบันเรื่องนี้กำลังจะลืมเลือนกันไป
ขะลำ มาจากไหน
ข้อขะลำส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากคำสอนในพระพุทธศาสนาและจากประสบการณ์ชีวิตของคนอีสานเอง ลักษณะของข้อขะลำมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น วิธีการสืบทอด โดยการบอกกล่าว ให้จดจำสืบต่อกันมา แทรกไว้ในวรรณกรมบ้าง ตัวอย่างเช่น เรื่อง ธรรมดาสอนโลก เป็นต้น
การสอนลูกหลานให้ปฏิบัติตามประเพณีขะลำ ให้ละเว้นไม่ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรนี้ ผู้ใหญ่จะบอกว่าทำอย่างนี้ขะลำนะ โดยไม่บอกเหตุผลบอกเพียงว่าอย่าทำ หากเด็กๆจะย้อนถามว่า เพราะเหตุผลใดจึงห้ามเช่นนั้น ผู้ใหญ่ก็จะตอบเพียงสั้นๆว่า เพราะมันขะลำ หรือท่านว่าขะลำ หรือกะลำ ตัวอย่าง นอนผินหัวไปทางทิศตะวันตก ขะลำ นั่งขวางบันได้ขะลำ ฯลฯ
จริงๆแล้วเหตุผลมีหรือไม่
เหตุผลคงมีแน่นอน แต่เนื่องจากสังคมอีสานยุคโบราณสภาพการศึกษายังไม่แพร่หลายกว้างขวาง เด็กๆยุคนั้นคงยังไม่พร้อมที่จะทำความเข้าใจกับเหตุผลอันลึกซึ้ง ฝ่ายผู้ใหญ่เองอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบายให้ยืดยาว ควรมุ่งการปฏิบัติให้ได้ผลอย่างเฉียบขาดน่าจะดีกว่า ท่านจึงบอกแต่เพียงสั้นๆว่า มันขะลำ เท่านี้ก็เป็นที่รู้กัน ชาวอีสานเชื่อในคุณวุฒิและประสบการณ์ของผู้ใหญ่ที่เห็นโลกมานาน ดังนั้นจึงพากันปฏิบัติตามขะลำโดยไม่โต้แย้ง และยินดีจดจำและบอกเล่าต่อไปยังรุ่นน้องลูกหลานสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน
ตามตัวอย่างที่ยกมาในตอนต้น ถ้าคิดใคร่ครวญให้ดีๆ ถึงเหตุผลของข้อขะลำที่ว่า ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนั้น อาจด้วยเหตุผลว่า บ้านเรือนของชาวอีสานนิยมปลูกหันด้านจั่วไปตามแนวดวงอาทิตย์ขึ้นและตก คือไม่ปลูกบ้านขวางแนวดวงอาทิตย์ขึ้นและตก แดดตอนบ่ายส่องฝาด้านตะวันตก ฝาแนวนี้จะร้อน ถ้าคนนอนหันศีรษะมาใกล้ฝาด้านร้อน ตอนหัวค่ำความร้อนยังเหลืออยู่ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ท่านจึงห้ามไว้ แต่ผู้รู้บางท่านก็บอกว่า ทิศตะวันตกเป็นทิศหันศีรษะของการฝังศพ ลูกหลานได้รับการบอกเล่าเช่นนี้ก็กลัวผี ไม่นอนหันศีรษะไปทิศตะวันตกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ประโยชน์ของขะลำ
การปฏิบัติตามขะลำ ซึ่งเปรียบเสมือนข้อกฎหมายของสังคมชาวบ้านดำเนินมาโดยสะดวก ไม่ค่อยมีใครคิดจะขัดขืน เพราะคนรุ่นก่อนมีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างฝังแน่น คำสอนต่างๆของผู้ใหญ่ถือว่ากลั่นกรองแล้ว มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ควรลบหลู่ ชาวบ้านเข้าใจถึงผลที่จะได้รับ ดังนั้นใครก็ตามที่เชื่อถือขะลำ สามารถจดจำและปฏิบัติตามได้มาก ก็ย่อมประสบความสุขความเจริญเป็นมงคลแก่ตนและครอบครัว สังคมอีสานจึงอยู่อย่างสุขสงบสันติเรื่อยมา
นับว่าเป็นความฉลาดของบรรพบุรุษชาวอีสาน ที่ได้คิดค้นบัญญัติข้อขะลำไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ปฏิบัติ บางเรื่องนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่เพิ่งค้นพบเหตุผลที่แท้จริง เป็นเหตุผลที่พิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า คนรุ่นโบราณท่านรู้เรื่องนี้มาก่อนเป็นเวลานับพันปี ตัวอย่างข้อขะลำที่ว่า ห้ามเด็กหรือผู้ป่วยกินเครื่องในของสัตว์ ผู้ใหญ่ให้เหตุผลแบบชั่วคราวหรือเหตุผลหลอกว่า จะทำให้เด็กดื้อว่ายากสอนยาก แต่นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารค้นพบภายหลังว่า เครื่องในสัตว์มีสารประเภทที่เข้าไปทำให้โรคปวดตามข้อเกิดอาการกำเริบ อีกประการหนึ่ง เครื่องในสัตว์เป็นที่เก็บของเสียในร่างกายของสัตว์ หากปรุงไม่สะอาดจะทำให้เด็กๆได้รับเชื้อโรค นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารแนะนำผู้ป่วยโรคข้อให้งดเว้นอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ เรื่องนี้คนอีสานได้ขะลำกันมาก่อนนานแล้ว
โทษของการฝ่าฝืนประเพณีขะลำมีหรือไม่อย่างไร
ถ้ามีใครสักคนหนึ่งไม่เชื่อและฝ่าฝืนคำสอนที่ได้ขะลำก็มีผลตามเหตุปัจจัย เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นจนเสียหาย คนทั้งหายก็จะจดจำว่านั่นเป็นเพราะฝ่าฝืนจึงได้รับผลกรรม ตัวอย่าง “ฝนตก ฟ้าร้อง ไถนา ขี่ควายเล่น ขะลำ” ใครก็ตามบังเอิญไปขี่ควายหรือไถนายามฝนตกฟ้าคะนอง เกิดฟ้าผ่าลงมาตายทั้งคนทั้งควาย คนทั้งหลายก็โจษขานเชื่อกันว่าเป็นเพราะฟ้าลงโทษ ในฐานที่ไม่เชื่อฟังคำสอนของคนโบราณ
ข้อสรุปสำหรับเรื่องฝ่าฝืนไม่เชื่อถือประเพณีขะลำ ถือว่าเป็นผลเสียหายอย่างร้ายแรง ท่านเรียกว่า “ขวง” หมายถึง ไม่เจริญ จัญไร คำว่า “ขวง” มักใช้คู่กับคำว่า “เข็ด” (หลาบจำคร้ามกลัวไม่กล้าทำอีก) เป็น “เข็ดขวง” ดังตัวอย่างสำนวนที่ว่า “บ่อนเข็ดให้จำบ่อนขะลำให้ย้าน” (ย้าน หมายถึง กลัว)
วรรณกรรมอีสาน เรื่อง ธรรมดาสอนโลก กล่าวถึงการฝ่าฝืนขะลำตามที่โบราณห้ามไว้ว่า ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนถือว่า “ขวง” หรือ “ขวาง” มีผลถึงขั้น “จิบหาย” (ฉิบหาย) ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้
แล้วเล่า ปลูกเฮือนตั้ง กวมขุน ตอใหญ่
อันนี้ ขวางขนาดนี้ จิบหายเสี้ยว ซู่อัน นั้นแล้ว
อันว่า จอมปลวกนั้น ขุดก่น หนีเสีย ก็ดี
แล้วเล่า ปลูกเฮือนกวม ก็บ่ดี ขวางฮ้าย
(ห้ามปลูกเรือนคร่อมตอไม้ใหญ่ หรือจอมปลวก จะทำให้ฉิบหายทุกประการ)
ด้วยเหตุดังกล่าวมา ผู้ใหญ่มักจะย้ำเตือนลูกหลานให้คิดเรื่องขะลำและมักอ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา ว่าถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่นับถือจะถูกลงโทษทุกคนไป
ขะลำหรือข้อห้าม มีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพแก่คนอีสาน
เท่าที่ศึกษามาบ้าง เห็นว่า บรรพบุรุษชาวอีสานได้กล่าวถึงขะลำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพที่น่าสนใจ นักวิจัยทั้งหายควรนำไปวิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้ง ได้แก่ ขะลำเกี่ยวกับอาหารการกิน หญิงมีครรภ์ หญิงแม่ลูกอ่อน ผู้ป่วย ร่างกายเด็ก สตรี สิ่งแวดล้อมและสัตว์ รายละเอียดตัวอย่างขะลำประเภทต่างๆ ดังนี้
ขะลำเกี่ยวกับอาหารการกิน
ผู้เขียนจะวิเคราะห์เป็นบางสำนวน บางทีก็เป็นเหตุผลที่คนโบราณบอกไว้ นอกจากนั้นฝากผู้อ่านวิเคราะห์เอง
o ผู้หญิงกินขาไก่ ปีกไก่ ขะลำ (อาจแย่งสามีคนอื่น)
o ข้าวสารหมดเกลี้ยงเรือนขะลำ
o กินข้าวสารดิบขะลำ (เป็นคนจัญไร)
o ข้าวเหลือกินในป่าต้องนำกลับบ้านทุกเมล็ด
o ญาติพี่น้องจากทางไกลมาเยี่ยม ห้ามปรุงอาหารจากเนื้อเป็ดให้กิน
o ภรรยาต้องไม่เอาอาหารที่ตนกินแล้วให้สามีกิน
o เวลากินข้าวห้ามคุยกันเสียงดัง
o ห้ามกินข้าวยามวิกาล
o เวลาปรุงอาหารเสร็จแล้วห้ามเอาสากคาไว้ในครก (จะคลอดลูกยาก)
ขะลำเกี่ยวกับหญิงมีครรภ์
o ห้ามอาบนำเวลากลางคืน
o ห้ามเดินข้ามเชือกกำลังล่ามวัวหรือควาย
o ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ
o ห้ามกินไข่ เผือกมัน (คลอดยาก)
o ห้ามตำหนิหรือเลียนแบบล้อเลียนคนอื่นที่มีร่างกายพิการ (คลอดลูกออกมาอาจมีลักษณะเหมือนคนที่ถูกล้อนั้น)
o ห้ามกินกล้วยลูกแฝด (จะได้ลูกแฝด)
o ห้ามเดินข้ามสะพานไม้แคบๆ
o ห้ามกินเห็ด
o ห้ามนั่งยองๆ (กระทบกระเทือนทารกในท้อง)
o ห้ามกินอาหารรสจัด (อันตรายต่อทารกในท้อง)
o ห้ามกินเนื้อเต่าและตะพาบน้ำ
o ห้ามสาวหลอก (สาวไหม)
ขะลำเกี่ยวกับหญิงแม่ลูกอ่อน
o ห้ามไกวเปลเปล่าๆ
o ห้ามกล่อมลูกในเวลากลางคืน
o ห้ามกินเนื้อควายเผือก
o ห้ามกินไข่มดแดงและของหมักดอง
o ห้ามกินผักชะอม ฟัก กล้วยหอม ดอกขี้เหล็กและข้าวเหนียวดำ
ขะลำเกี่ยวกับร่างกาย
o ห้ามตัดเล็บหรือตัดผมเวลากลางคืน
o ห้ามเย็บเสื้อผ้าขณะกำลังสวมใส่คาตัว
o กินข้าวอิ่มใหม่ๆ ห้ามอาบน้ำทันที
o ห้ามเอาเส้นผมที่ตัดแล้วไปเผาไฟ
o ห้ามโกนจุกเด็กในวันเสาร์
o การสระผมให้ทำได้เฉพาะวันอังคารกับวันเสาร์วันอื่นๆห้ามสระ
o ห้ามเอามีดพร้ามาเล่นหยอกกัน
o อย่านอนเล่นดาบ อย่าคาบนมเมีย อย่าเลียคมมีด
ขะลำเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็ก
o ห้ามทักว่าเด็กน่ารัก (ให้บอกว่าน่าชัง เพราะเกรงผีจะมาเอาตัวไป)
o ห้ามตีที่หลังเด็กหรือศีรษะเด็ก (อาจปัสสาวะรดที่นอน)
o ห้ามเด็กกินไข่ร้างรัง
o ห้ามเด็กทารกที่ฟังยังไม่ขึ้นส่องกระจกเงา (ฟันจะขึ้นช้า)
o ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลา
o ห้ามตีก้นเด็ก (อาจเป็นโรคทราง)
o เวลาอุ้มเด็กอย่าพูดว่าหนักหรือเบา
o ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก (เชื้อโรคจะเข้าจมูกและตาเด็ก)
o เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนตัวเด็กเล่น (อาจหลุดมือตกลงเป็นอันตราย)
o ห้ามเด็กกินจาวมะพร้าว
o ห้ามเด็กกินเครื่องในไก่ โดยเฉพาะไต (เด็กจะเป็นคนดื้อรั้น)
ขะลำเกี่ยวกับผู้หญิงผู้ชาย
o ห้ามแต่งงานในระยะเข้าพรรษา
o ห้ามสวมรองเท้าเวลาตักบาตรและสรงน้ำพระ
o ห้ามหนุ่มสาวพลอดรักกันในบริเวณวัดและสถานที่สักการบูชา
o ห้ามเสพเมถุนวันพระ วันศีล (ลูกเกิดมาจะว่ายากสอนยาก เหตุผลลึกๆคงให้งดเว้นบ้างไม่หมกมุ่นจนเกินไป)
o ห้ามผู้หญิงเล่นการพนันทุกชนิด
o ห้ามผู้หญิงสูบบุหรี่
o ห้ามหญิงหรือชายที่กำพร้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว
ขะลำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
o ห้ามด่าลมฟ้าอากาศ อุณหภูมิและแสงแดด
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,172 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
|