6 ก.พ.62 - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ ซึ่งที่ประชุมมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.
สำหรับสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญ ที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต นอกจากนี้ ให้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการรับนักเรียน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้ศึกษาต่อยังสถานศึกษาใกล้บ้าน ส่วนข้อเสนอต่อ ศธ.นั้น ป.ป.ช.เห็นควรให้มีการสุ่มตรวจสอบรายได้ของสถานศึกษาทั้งก่อนและหลังช่วงเวลาการรับนักเรียน โดยเฉพาะการตรวจสอบเงินบริจาคของสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงเป็นประจำทุกปี และเปิดเผยข้อมูลรายรับรายจ่ายของแต่ละสถานศึกษา
“ข้อเสนอของ ป.ป.ช.ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะทำให้การรับนักเรียนเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งผมย้ำมาตลอดว่าการรับนักเรียนจะต้องตรวจสอบได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาเหมือนที่ผ่านมาโรงเรียนดังเรียกรับเงินแลกที่นั่งเรียน และผมก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องทุจริตในการรับนักเรียน เพราะเรื่องนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการศึกษา อย่างไรก็ตาม ผมได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปดำเนินการตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.แล้ว ส่วนจะมีแนวปฏิบัติการรับนักเรียนออกมาในรูปแบบใดนั้นคงต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคิดว่าน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” รมว.ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ที่เริ่มมาตั้งแต่ในปีการศึกษา 2554 นั้น มีการวางระเบียบไว้ดังนี้ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน 3.เด็กยากไร้ เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กพิการ 4.บุตรของผู้เสียสละเพื่อชาติ 5.บุตรของข้าราชการครู หรือบุคลากรในโรงเรียนแต่ไม่ครอบคลุมถึงหลานและญาติ 6.รับนักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่พัฒนา และ7. รับนักเรียนของผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
สพฐ.จ่อปรับหลักเกณฑ์รับนักเรียน แก้ปัญหา "แป๊ะเจี๊ยะ"
สพฐ.ขานรับมาตรการป้องกันการทุจริตของ ป.ป.ช. เรื่องการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือแป๊ะเจี๊ยะ และเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาปรับปรุงประกาศรับนักเรียนใหม่ วันที่ 8 ก.พ.นี้
วันที่ 6 ก.พ.2562 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนจัดทำรายละเอียดมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทั้งนี้ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาปรับปรุงประกาศ สพฐ. เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ หากบอร์ด กพฐ.เห็นชอบมาตรการต่างๆ ก็จะมีการปรับปรุงประกาศ สพฐ.ให้สอดรับกับมติ ครม. ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับนักเรียน เพราะยังมีเวลาในการดำเนินการ
ขณะเดียวกันจะเสนอขอปรับเวลาการรับสมัครรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากเดิมวันที่ 23-27 มี.ค.นี้ เป็นวันที่ 22-27 มี.ค.นี้ และงดรับสมัครวันที่ 24 มี.ค. เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้ง
สำหรับสาระสำคัญของมาตรการป้องกันการทุจริตฯ ของ ป.ป.ช. อาทิ พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียน กรณีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เช่น นักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน, รับนักเรียนของผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาทุจริต, การเรียกรับประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียน ต้องสร้างระบบการสอบคัดเลือกที่โปร่งใส ตรวจสอบได้, ควรกำหนดหลักเกณฑ์สัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ นักเรียนทั่วไป และนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ, ควรเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นที่จะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในระดับรองลงมาจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง
ที่มา ThaiPBS วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562