ภายหลังข่าวที่มีรายงานการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่และปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2552 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนมีผู้ป่วยรวม 854 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 59 ราย ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยรวม 50 ราย ส่งตรวจพบว่า 17 ราย เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่ต้องตกตะลึง คือ เชื้อมฤตยูนี้เป็นไข้หวัดสายพันธุ์ของคน โดยมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย
แน่นอนว่า รายงานชิ้นดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั้งโลก วันนี้จึงควรมาทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H1N1” หรือ “เชื้อไวรัสไข้หวัดหมู” กัน...
** รู้จักหวัดหมูพันธุ์ใหม่
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้รายละเอียดว่า ไข้หวัดใหญ่ที่พบในคนตามฤดูกาลส่วนมากจะเป็น สายพันธุ์ H1N1 และ H3N2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันทุกปี และต้องมีการฉีดวัคซีนประจำปีที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่จะมีการระบาด ก็จะสามารถป้องกันโรคได้
อย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ก็จัดเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งระบาดอยู่ในสัตว์ปีก และสามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้ แต่ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เป็นสายพันธุ์รุนแรงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูนั้น ก็เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A เช่นกัน พบได้ทั้งในหมูเลี้ยง และหมูป่า ในปัจจุบันที่พบบ่อยรวมทั้งในประเทศไทย จะเป็นสายพันธุ์ H1N1, H1N2 และ H3N2 ซึ่งลักษณะสายพันธุ์ไม่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ ในมนุษย์ มีรายงานน้อยมากที่จะข้ามมายังมนุษย์
“ในส่วนการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดหมู ที่พบในประเทศเม็กซิโก และอเมริกานั้น เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ เป็นสายพันธุ์ที่มีชิ้นส่วนของพันธุกรรมเกิดจากการผสมผสานของไข้หวัดหมู ที่เคยมีรายงานในอเมริกา หรือ ยุโรป และเอเชีย รวมทั้งชิ้นส่วนพันธุกรรมของไข้หวัดที่เคยรายงานไว้ในอเมริกาเหนือ จึงถือได้ว่าเป็น “ไวรัสสายพันธุ์ใหม่” และเมื่อดูองค์ประกอบเปรียบเทียบกับวัคซีน H1N1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความคล้ายคลึงกันไม่ถึง 80% ...บ่งชี้ให้เห็นว่า การป้องกันด้วยวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันก็ไม่น่าจะได้ผล อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวยังคงตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ได้แก่ Oseltamivir (Tamiflu) และ Zanamivir แต่สามารถดื้อต่อ ยา Amantadine ได้เช่นกัน” ศ.นพ.ยง ขยายความ
** การแพร่เชื้อ อาการ
กับคำถามที่ว่าการแพร่เชื้อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วหากกินหมูจะติดโรคหรือไม่นั้น นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป คือเชื้อนั้นจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา
แต่สิ่งที่ทำให้เหล่าผู้บริโภคทั้งหลายหายกังวลได้เปลาะหนึ่ง คือ เชื้อนี้ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู!!!
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก นอกจากนี้ในบุคคลที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หากติดเชื้อจะทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการคล้ายจะเป็นหวัด มีไข้สูง ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์ทำการวินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคต่อไป
“หากป่วยและมีอาการ ควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ประชาชนทั่วไปควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก ผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ล้างมือบ่อยๆ” นพ.ปราชญ์ เสริม
** เตรียมพร้อมรับมือโรคพันธุ์ใหม่
ด้านการเตรียมการ ป้องกันเฝ้าระวังโรคนั้น ได้รับคำยืนยันจาก นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.กระทรวงสาธารณสุข ไปแล้วว่า ในไทยยังไม่พบเชื้อไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศเม็กซิโก แต่ทั้งนี้ก็ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย การเตรียมเครื่องมือและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการเดินทางระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา อย่างใกล้ชิดด้วย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฎิบัติ การควบคุมโรคอุบัติใหม่กระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำด้วยว่า ได้จัดเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังป้องกันของไทยขั้นสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนไทย จะไม่ป่วยจากโรคดังกล่าว ซึ่ง “ขณะนี้โรคนี้ยังไม่มีการระบาดสู่ไทย” แต่ถึงอย่างไรก็ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์โรคนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งการป้องกันเฝ้าระวัง ทุกจุดผ่านแดน และความพร้อมของสถานบริการเพื่อการรักษา
** ด่านสกัดตั้งแต่ประตูสู่ประเทศ
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับผู้แทนองค์การอนามัยโลก เมื่อคืนวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินระดับ 4 ซึ่งหมายถึงการระบาดใหญ่ แต่ยังเป็นแค่ระดับ 3 คือ ให้เน้นเรื่องของการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดในแต่ละพื้นที่เท่านั้น
ในส่วนของประเทศไทยได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมในการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ “เทอร์โมสแกนเนอร์” บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติโดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในจุดที่มีเครื่องบิน หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดคือเม็กซิโก และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา พร้อมแจกเอกสารคำเตือนด้านสาธารณสุข (Health Card) แก่ผู้ที่จะเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ ในส่วนของคนไทยได้เตือนให้งดการเดินทางไปประเทศเม็กซิโกและบางรัฐของสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย เทกซัส ที่มีการระบาดของโรคในขณะนี้ รวมทั้งให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นที่กรมควบคุมโรค และหากมีความจำเป็นอาจจะต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการในระดับกระทรวง เพื่อเป็นวอร์รูมในการติดตาสถานการณ์และเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดต่อไป
** กินหมูได้ไม่ติดโรค!!
“ข่าวการระบาดของโรคนี้ อาจทำให้ประชาชนไทยเกิดความวิตก กลัวติดเชื้อ และไม่กล้ากินเนื้อหมู จึงขอให้ข้อมูลว่า โรคระบาดดังกล่าวไม่ใช่โรคที่ติดจากการรับประทานหมู แต่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีสารพันธุกรรมของหมูและคนผสมกัน เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อในตัวคน ติดต่อจากคนสู่คนไม่ใช่จากหมูมาสู่คน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และปอดบวมอย่างใกล้ชิด”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ทั้งนี้ นพ.มล.สมชาย บอกย้ำความมั่นใจด้วยว่า กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ซึ่งมีเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศเม็กซิโก แต่เชื้อนี้มียาต้านไวรัสที่รักษาได้ นอกจากนี้ ไทยยังมีระบบที่ใช้ตลอดปี คือ การเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวมเพื่อคัดกรองหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งปกติไข้หวัดใหญ่ในคนจะพบเชื้อ H3N2 มากกว่า H1N1 อยู่แล้ว การเฝ้าระวังจึงสามารถเพิ่มเติมรองรับใช้กับโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ได้
แหล่งที่มา : ผู้จัดการออนไลน์