ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นฯ เผย สถานการณ์เด็กปฐมวัยยังไม่ดีขึ้น หวังทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข
วันนี้ (28 ม.ค.) จากการปฐมนิเทศเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) ในโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย (COACT) กล่าวถึง “สถานการณ์เด็กปฐมวัยในยุค 4.0” ว่า ปัจจุบันมีเด็กปฐมวัยประมาณ700,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เด็กปฐมวัยกว่า 30% มีพัฒนาการล่าช้า และจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า การที่ สธ. เป็นผู้รับหน้าที่ช่วยและแก้ไขปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้า เพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องเข้าใจถึงปัญหามาร่วมกันแก้ไข
รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า มีดังนี้
1.ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การพบปัญหาการติดเชื้อมือเท้าปากภายในโรงเรียน หรือ ครอบครัวดูแลสุขภาพเด็กไม่ครบถ้วน เป็นต้น
2.การก้าวสู่สังคมดิจิทัล ปัจจุบันพบว่าเด็กใช้มือถือมากเกินไป มีผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า และมีผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาการด้านสติปัญญา
3.การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว ที่ปัจจุบันเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ผู้สูงอายุรับหน้าที่เลี้ยงเด็กแทนพ่อ แม่ และ
4.ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ขณะนี้การจัดการศึกษาระหว่าง ศพด.และสถานศึกษาเอกชน ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0การศึกษาต้องลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมในเรื่องสติปัญญา และกระตุ้นให้นักเรียนมีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562