โครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดปฐมนิเทศ : เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบและกลไกดูแลเด็กปฐมวัย ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนเครือข่ายการจัดการความรู้ของ ศพด.จำนวน 30 แห่ง นอกจากนี้ได้จัดเสวนา “ได้อะไรจากการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดด” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่าง 6 ศพด.แม่ข่าย ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า วันนี้ คือการมาเรียนรู้ไปด้วยกันเพื่อที่จะปักหลักให้มั่นคง ว่าการพัฒนา ศพด.แบบก้าวกระโดด โดยพัฒนาทั้งระบบไม่ได้ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องยกระดับขึ้นมา หลายเรื่องต้องเรียนรู้แบบองค์รวมเพราะชีวิตเด็กเป็นองค์รวมสอดประสานกันทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ ปัญญา พัฒนาการต่างๆ และสอดประสานไปยังบ้าน โรงเรียน ศพด. และชุมชน ซึ่ง สสส.เห็นความสำคัญของช่วงเวลาทองของชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ด้วยภารกิจหลักในเรื่องการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยลดปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่องหลัก คือ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ อีกภารกิจที่สำคัญคือการสร้างฐานทุนชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เป็นงานที่เสมือนปิดทองหลังพระ เพราะกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา
นางสาวณัฐยา กล่าวอีกว่า สสส.คาดหวังให้ภาคีเครือข่าย ศพด.รุ่นใหม่ จำนวน 30 แห่ง โดยมี ศพด.แม่ข่าย 6 แห่ง จาก 23 แห่งทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้ จึงอยากให้มองอนาคตไปด้วยกัน เพราะขณะนี้ เราได้กระจายขยายความร่วมมือออกไป โดยมี ศพด.30 แห่ง ได้เข้ามาเรียนรู้ เก็บประสบการณ์ ลงมือทำ จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก และไปต่อยอดเพื่อไปเป็นครู โค้ช เป็นศูนย์เรียนรู้รุ่นต่อๆ ไป ทั้งนี้ ด้วยสภาวการณ์เด็กเกิดใหม่ต่อปีไม่เกิน 700,000 คน หากร่วมมือกันทำให้ ศพด.ทั้งประเทศเกิดการพัฒนาได้ทั้งหมด ศพด.จะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญของสังคมสูงวัยในอีกไม่ช้า เราจะทำให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพที่สมบูรณ์พร้อมสามารถที่จะนำพาสังคมสูงวัยก้าวต่อไปได้
รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย (COACT) กล่าวถึง “สถานการณ์เด็กปฐมวัยในยุค 4.0” ว่า ปัจจุบันมีเด็กปฐมวัยประมาณ700,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และเมื่อเทคโนโลยีก้าวไกล แต่ด้านพัฒนาการของเด็กในประเทศไทยมีปัญหามานานกว่า 17 ปี ที่มีเด็กพัฒนาการล่าช้ากว่า 30% จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า การที่ สธ. เป็นผู้รับหน้าที่ช่วยและแก้ไขปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้า เพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องเข้าใจถึงปัญหา มาร่วมกันแก้ไข ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า ดังนี้ 1.ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การพบปัญหาการติดเชื้อมือเท้าปากภายในโรงเรียน หรือครอบครัวดูแลสุขภาพเด็กไม่ครบถ้วน เป็นต้น 2.การก้าวสู่สังคมดิจิทัล ปัจจุบันพบว่าเด็กใช้มือถือมากเกินไป มีผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า และมีผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาการด้านสติปัญญา 3.การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว ที่ปัจจุบันเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ผู้สูงอายุรับหน้าที่เลี้ยงเด็กแทนพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุขาดรายได้เพราะไม่สามารถทำงานประจำได้ และมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น และ 4.ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ขณะนี้ การจัดการศึกษาระหว่าง ศพด.และสถานศึกษาเอกชน ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“เมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาต้องลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมในเรื่องสติปัญญา กระตุ้นให้นักเรียนมีพัฒนาการที่สมวัย โดยส่งเสริมให้เด็กมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม(Head) มีทักษะที่เห็นผล (hand) คือให้เด็กลงมือทำจริง ให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) มีจิตใจงดงาม (Heart) การปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) เสริมทักษะ (Skill-Set) และมีพฤติกรรมที่ดี (Behavior Set) ทั้งนี้ ต้องเน้นสู่การเป็นผลเมืองที่ดี มีคุณภาพ เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาเด็ก ให้รู้จักพอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบ” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว
นายเกียรติคุณ คุณารักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.ศรีธรรมราช กล่าวในการเสวนา “ได้อะไรจากการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดด” ว่า จากเดิมที่องค์การบริหารส่วนตำบล ได้ลองผิดลองถูกพัฒนา ศพด. ในตำบลของตนฝ่ายเดียว เมื่อได้รับการติดต่อและ และได้เข้าร่วมโครงการ COACT พบว่าปัจจุบัน ศพด.ในพื้นที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เช่น ในอดีต ศพด.ในพื้นที่ปิดทำการเรียนการสอนบ่อยมาก เพราะมีเด็กติดโรคมือเท้าปาก หรือไข้หวัด เมื่อได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ศพด.เครือข่ายต้นแบบพบการบริหารจัดการที่ดี จึงได้ระดมเงินจากผู้ปกครองทำจุดคัดกรองตรวจวัดไข้เด็ก ขณะนี้ผ่านไปกว่า 2 ปี โรงเรียนในพื้นที่ไม่มีแห่งใดที่ปิดการเรียนการสอนด้วยสาเหตุของการเจ็บป่วยอีกเลย
นางสาวศิริพร ภูสิเงิน ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองนครพนม (ยงใจยุทธ) อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการสิ่งที่โรงเรียนได้คือมิตรแท้ที่คุยภาษาเดียวกัน เพราะต่างดูแลเด็กปฐมวัยเช่นเดียวกัน ระบบการทำงานของโรงเรียนเข้าที่มากขึ้น สามารถทำงานกันอย่างเป็นระบบ ครูเหนื่อยน้อยลง ได้รับคำชื่นชมจากผู้ปกครองโดยเฉพาะระบบคัดกรอง ทำให้โรงเรียนปลอดโรคมือ เท้า ปาก นอกจากนี้ ที่ชื่นชมว่าโรงเรียนเอาใจใส่เด็กเป็นอย่างดี โครงการของ สสส.ตอบโจทย์ในทุกข้อ นอกจากเด็กได้รับประโยชน์แล้ว ครูได้รับประโยชน์เช่นกัน เพราะทำให้ครูมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น สามารถเป็นโค้ช ไปอบรมให้ความรู้ ศพด.ในพื้นที่ได้ อีกทั้ง สามารถนำผลงานที่ทำเพื่อเด็กด้วยความตั้งใจจริงเพิ่มวิทยฐานะได้ด้วย