บอร์ดกพฐ.อนุมัติปรับปรุงโครงสร้างภายในยก 3 หน่วยเป็นหน่วยงานการศึกษา มีอัตรากำลังของตัวเอง ชี้ใช้วิธีเกลี่ยคนเพื่อไม่เกิดภาระงบประมาณ ขณะที่การขอวิทยฐานะ ผอ.สพท ที่อยากให้ปรับสายวิชาการเป็นสายบริหาร ยังไม่มีการเสนอใช้แนวทางเดิมก่อน
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอ ขอปรับปรุงหน่วยงานภายใน สพฐ. โดยยกฐานะ 3 หน่วยงานภายใน เป็นหน่วยงานทางการศึกษา มีอัตรากำลังเป็นของตนเอง ได้แก่ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หน่วยศึกษานิเทศก์ และศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามในประกาศ และขออนุมัติการกำหนดกรอบอัตรากำลังจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) จากนั้น สพฐ.จะมาเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่ โดยไม่ให้กระทบภาระงบประมาณรัฐบาล ส่วนการปรับปรุงโครงสร้าง สพฐ.ในภาพรวมใหญ่ นั้น ยังไม่ได้มีการเสนออะไร เพราะต้องรอดูพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก่อน
ในส่วนกรณีที่ มาตรา 26 ของ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจังหวัด มีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจังหวัด ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ผอ.กศน.) จังหวัด เป็นตำแหน่งอำนวยการระดับสูง หรือ ซี 9 โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำผลงานเพื่อเสนอขอวิทยฐานะ นั้น ขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ. สพท.) ส่วนใหญ่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ก็อยากให้ปรับปรุงตำแหน่ง ผอ.สพท.จากสายงานวิชาการ ไปเป็น สายงานบริหาร ไม่ต้องมาทำผลงานเพื่อเสนอขอวิทยฐานะเช่นกัน เพราะภาระงานของ ผอ.สพท.กว่า 90% เป็นงานบริหาร และมีภาระงานมากพอที่จะกำหนดตำแหน่งเป็ น อำนวยการระดับสูงได้
“ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับตำแหน่ง ผอ.สพท.จากสายวิชาการ ไปเป็น สายบริหาร อาจกระทบกับภาระงบประมาณได้ ดังนั้น สพฐ.จึงยังไม่เสนอเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในการทำผลงานเพื่อเสนอขอวิทยฐานะ ทางคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ก็เอื้อให้ประเมินจากผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นตามภารกิจหน้าที่ของ ผอ.สพท. ไม่ใช่ให้มานั่งเขียนผลงานทางวิชาการ ซึ่ง ผอ.สพฐ.ก็พึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตหากปรับให้ ผอ.สพท.เป็นสายบริหารเข้าสู่ตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ผอ.สพท.ก็น่าจะเห็นด้วย แต่ สพฐ.คงไม่ไปเรียกร้องเรื่องนี้ และต้องรอฟังนโยบายกระทรวงศึกษาธิการก่อน” ดร.บุญรักษ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 21 ม.ค. 2562