รมว.ศึกษาธิการ ปลื้มผลงานศธ.ในรอบ 4 ปี พอใจผู้บริหารศธ.ทุกช่วยขับเคลื่อนงานการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เผย ผลงานชิ้นสำคัญที่พอใจมากที่สุด คือ การปราบทุจริตภายในกระทรวง ชี้ สังคมให้ความสนใจ
วันนี้ (17 ม.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การแถลงผลงานในรอบ 4 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตนรู้สึกพอใจภาพรวมการทำงานของข้าราชการและผู้บริหารทุกองค์กร หลักฯ เพราะทุกคนได้ดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งขอให้คะแนนการทำงานของทุกคน 5 เต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะคูปองพัฒนาครูให้ 9 คะแนน เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาครูครั้งใหญ่ และอีกเรื่องสำคัญที่ตนพอใจอย่างมากคือการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในวงการศึกษา โดยยุคนี้เป็นยุคที่ได้สะสางปัญหาการทุจริตมากที่สุดยุคหนึ่ง ส่วนจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงหรือไม่นั้นตนไม่ได้มองเช่นนั้นแต่คิดว่าเรื่องทุจริตเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมากกว่า
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก รมว.ศึกษาธิการ ให้แถลงผลงานศธ.ในรอบ 4 ปี เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้ผลการดำเนินงานในภาพรวมของศธ.ซึ่งทุกองค์กรหลักฯได้ดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาอัธยาศัย (กศน.) ได้มีกิจกรรมลูกเสือจังหวัดชายแดนใต้ พัฒนาลูกเสือจิตอาสาเพื่อสร้างความสามัคคีในพื้นที่ จัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด หลักสูตรแกนกลางสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาอิสลามศึกษา การช่วยเหลือประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จำนวน 45,289 คน สามารถช่วยเหลือได้แล้ว 38,501 คน คิดเป็นร้อยละ 85
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร หรือ คูปองพัฒนาครู ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการพัฒนาครูทั้งประเทศ การพัฒนาและส่งเสริมการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โครงการสานฝันการกีฬาสู่ชายแดนใต้ พื้นที่นวัตกรรม ด้วยการกำหนดพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมจัดการศึกษา
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการล้อมเน้นยกระดับคุณภาพวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การจัดโครงการอาชีวะศึกษาประชารัฐจังหวัดใช้แดนภาคใต้ การแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา การพัฒนาความร่วมมืออาชีวศึกษากับประเทศที่มีศักยภาพสูงให้มีมาตรฐานสากล การเพิ่มสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี รวมถึงการยกระดับมาตรฐานอาชีวสู่สากล นอกจากนี้จะตั้งเป้าเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพในปี 2562 ให้ได้ 45% จากเดิมปี 2561 40%
สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ.ได้ทำงานวางนโยบายการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอศ.) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย และการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสิ่งที่ สกศ. ขับเคลื่อนแล้วคือ ระบบส่งเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ (เครดิต แบงก์) ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้ปรับมาใช้โมเดลนี้ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไม่ต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปี หากต้องการหยุดเรียนเพื่อออกไปทำธุรกิจ ทำงาน หรือเหตุผลอื่น ๆ ก็สามารถพักการเรียนได้ โดยมหาวิทยาลัยจะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ และจะกลับมาเรียนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเครดิตแบงก์ครอบคลุมทั้งการเรียนแบบเก็บหน่วยกิตปกติ การเรียนออนไลน์ และการเปิดหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถเก็บวิชาเหล่านั้นมาเปรียบเทียบเป็นหน่วยกิต ในกรณีที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาได้ซึ่งเป็นระบบเรียนรูปแบบใหม่ที่ขยายโอกาสทางการศึกษา.
ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินโครงการทุนอุดมศึกษาพัฒนาภาคใต้ โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2562
ขอบคุณภาพจาก สกว.