“หมอธี”เผยเด็กไทย 50% กำพร้าเทียม ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เข้าโรงเรียนไร้คุณภาพ ชี้ พัฒนาเด็กที่ดีควรลงทุนตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย
วันนี้ (10 ม.ค.)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การศึกษาปฐมวัยเพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล” ในงานมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค) เปิดตัวคณะการศึกษาปฐมวัย และโรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมี นายกลินท์ สารสิน นายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ,รศ.ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และรศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ประธานโครงการไรซ์ไทยแลนด์ ร่วมแถลงข่าว ว่าปัจจุบันเด็กไทย ประมาณ 50 % เป็นเด็กกำพร้าเทียม คือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตัวเลขทั้งโลกชัดเจนอยู่แล้วว่าเด็กอยู่กับพ่อเดี่ยวแม่เดี่ยว ประมาณ 70 % เพราะปัญหาครอบครัวหย่าร้าง แต่นั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรถ้ามีคุณภาพ แต่สำหรับประเทศไทยเด็กกำพร้าเทียม ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีปัญหา และเมื่อไปอยู่ในสถานศึกษาก็เหมือนถูกซ้ำเดิมเข้าไปอีกเพราะโรงเรียนไม่มีคุณภาพ ดังนั้น รู้สึกดีใจที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดคณะการศึกษาปฐมวัยและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพราะตั้งแต่เป็นรมว.ศธ.มีหน้าที่ 2-3 อย่าง คือ ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ซึ่งในฐานะที่อยู่ภาครัฐ ต้องเป็นการศึกษาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประเทศ แต่การศึกษาที่ดีต้องเป็นการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า นโยบายด้านการศึกษาไม่ใช่ออกโดยไม่รู้ว่าอะไรดี ไม่ดี หรือทำเพียงการเพิ่มดีกรีให้แก่ครู เพิ่มเงินเดือนครู เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ครูสอนดีขึ้น และการพัฒนาเด็กที่ดีควรลงทุนตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย ที่ผ่านมามีนโยบายด้านการศึกษาที่มีทั้งผลบวก และผลลบ โดยผลบวกคือการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยมีหลายแนวคิด เป็นการจัดการศึกษาที่ดีต่อเด็กแต่ผลที่ได้มากน้อยต่างกัน แต่ก็ต้องลงทุนสำหรับเด็กเล็กอย่างจริงจัง เพราะสมองเด็กกำลังสร้าง ซึ่งถ้าช้ากว่านี้จะสายไปเสียแล้ว ส่วนผลลบเป็นเรื่องการย้ายของครูและนักเรียน เมื่อวาน(9 ม.ค.) ตนเองให้สัมภาษณ์ ไม่ได้คิดอะไร พูดเฉยๆ และนักข่าวเอาไปลง คือ อยากให้ขยายเวลาเกษียณครูไปเดือนมี.ค. เพราะอยากให้ครูอยู่กับเด็กจนจบภาคเรียน” นายธีระเกียรติ กล่าว
“การศึกษาปฐมวัยต้องเป็นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้แก่เด็ก ซึ่งขณะนี้ที่มีการส่งเสริมทักษะให้แก่เด็กมหาวิทยาลัย เด็กอาชีวะแต่ไม่ค่อยเห็นการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากตอนเด็กเล็กไม่ได้มีการปลูกฝังทักษะเหล่านี้ หลักสูตรไฮสโคป เป็นหลักสูตรเน้นการปฏิบัติ การฝึกฝน ฝึกทักษะที่จำเป็นแก่เด็กซึ่ง รศ.ดร.วีรชาติ ได้มีการนำหลักสูตรดังกล่าวมาทดลองใช้ในกลุ่มโรงเรียนสังกัดต่างๆ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไม่ได้การตอบรับเท่าที่ควร เพราะติดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีแต่เรื่อง กระทรวงผมยุบได้น่าจะดีที่สุด ผมไม่เสียดายตำแหน่ง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่าการศึกษาปฐมวัย ต้องคิด 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1.การเข้าถึงการศึกษา ซึ่งโชคดีไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
2.เรื่องคุณภาพ ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน
3.ความไม่เสมอภาพ และ
4.การลงทุนที่ต้องได้รับผลตอบแทน
ปีนี้ศธ.ได้ใช้งบด้านการศึกษาลดลงไป 2.7% เหลือ 4.7 แสนล้านบาท และมีการลงทุนเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย หรือเด็กอนุบาลอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง โดยขณะนี้ 50 % เด็กปฐมวัยอยู่ในศูนย์เด็กเล็กและมาศึกษาต่อในโรงเรียนของรัฐ 25% เรียนต่อโรงเรียนอนุบาลเอกชน 25% และมีประมาณ 10% ไม่รู้ว่าเด็กไปอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การศึกษา ถ้าเป็น 4.0 ต้องOpen up ซึ่งการเป็น Open up ในยุคนี้ ไม่ง่าย เพราะขณะเป็นรมว.ศธ.มีหลายเรื่องที่อยากทำแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎระเบียบ ไม่มีคนเวลาอยู่กระทรวง การที่ ม.หอการค้าไทย เปิดคณะศึกษาปฐมวัย ซึ่งไม่ใช่สาขาเล็กๆ อยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ และเปิดโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือเป็นความกล้าหาญ และเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนในระยะยาวและเป็นการช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยได้
ด้านรศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่าโรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ใช่ Direct Instruction แต่คือ Direct Experiences ที่จะไม่เน้นสอนแบบท่องจำ แต่จะเน้นส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำอย่างมีชีวิตชีวา” (active participatory) เปิดโอกาสให้เด็กเกิดกระบวนการ “ตัดสินใจ” (child initiative) ต่อยอดการคิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะรอบด้าน ภายใต้การสนับสนุนของคุณครูทุกคน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ (STEAM) ผ่านกิจกรรมที่เด็กปฐมวัยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
รศ.ดร. เสาวณีย์ กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไฮสโคปทุกห้อง ตั้งแต่เตรียมอนุบาลไปจนถึงอนุบาล 3 โดยรับนักเรียนชั้นละไม่เกิน 25 คน ตั้งแต่ปีแรกเพื่อสร้างมาตรฐานให้เด็กไม่ล้นห้องและทำให้เราสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง โดยสุดท้ายแล้วเด็กตลอด 4 ชั้นปีจะมีจำนวน 100 คนซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่เราต้องการและเหมาะสม เพราะจะได้จำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นปีที่เหมาะสมกับจำนวนครูที่คอยดูแล เราจะไม่ใช้ระบบครูพี่เลี้ยงเข้ามาช่วย แต่เราจะใช้ครูปฐมวัยจริงๆ เข้ามาดูแลทุกห้อง ครูทุกคนจะได้รับการอบรมในสถานที่จริงอย่างเข้มข้นก่อนจะเริ่มสอนจริง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ห้องเรียนมีความพร้อมและสามารถพัฒนาเด็กทุกคนได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2562