‘อรรถพล’ พบ พิรุธ ค่าตอบแทนโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ถูกใช้ผิดประเภท เตรียมรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแก้ปัญหาต่อไป
เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2562 นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตนและผู้บริหารสำนักงาน สกสค.ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ได้หารือร่วมกับ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และทีมผู้บริหารของธนาคารออมสิน ใน 3 เรื่อง เรื่องที่ 1.สำนักงาน สกสค.ได้ขอให้ทางธนาคารออมสินได้ทบทวน MOU โครงการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งได้มีการทำกันมาแล้วจำนวน 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 9 ก.ย.2548 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 ม.ค.2551 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 25 พ.ค.2552 และฉบับที่ 4 ลงวันที่ 5 ส.ค.2553 โดยเนื้อหาสาระของ MOU แต่ละฉบับจะคล้ายๆ กัน จะมีแตกต่างกันบ้างก็คือ การกำหนดให้ทางธนาคารออมสินจ่ายค่าตอบแทน โดยบางฉบับกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนเข้ากองทุนสนับสนุนกิจการของสำนักงาน สกสค. และบางฉบับจ่ายเงินค่าตอบแทนสนับสนุนกิจการของ ช.พ.ค. แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าหลังจากตนเข้ามาปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ได้ตรวจสอบพบว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจากธนาคารออมสินในอดีตที่ผ่านมา สำนักงาน สกสค.ได้รวบเอาเข้าไปไว้ในกองทุนสนับสนุนกิจการของสำนักงาน สกสค.ทั้งหมด ทั้งที่ MOU ในแต่ละฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องนำเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไปไว้ในส่วนใดบ้าง จากนั้นก็มีการอนุมัตินำเงินออกไปใช้จ่ายกัน ซึ่งถือเป็นการใช้เงินผิดประเภท
ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตุที่เกี่ยวข้องกับ MOU ทั้ง 4 ฉบับอีกก็คือ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-3 มีข้อตกลงร่วมกันว่ากรณีผู้กู้เงินซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค.ถึงแก่กรรมให้สำนักงาน สกสค.ส่งเงินสงเคราะห์รายศพไปจ่ายหนี้ให้กับธนาคารออมสินเพื่อชำระเงินกู้ ช.พ.ค.แทนสมาชิก แต่พอมาถึง MOU ฉบับที่ 4 มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษกว่า 3 ฉบับ โดยกำหนดให้สำนักงาน สกสค.ส่งเงินสงเคราะห์รายศพให้กับธนาคารออมสินเช่นกัน แต่ยกเว้นกรณีที่ผู้กู้ที่ถึงแก่กรรมรายใดมีเงินประกันสินเชื่อเอาไว้ไม่ต้องส่งเงินสงเคราะห์รายศพให้กับธนาคารออมสิน แต่จากการตรวจสอบย้อนหลังกลับพบว่า แม้จะมีข้อกำหนดใน MOU เกี่ยวกับเรื่องการส่งเงินสงเคราะห์รายศพไว้ชัดเจน แต่สำนักงาน สกสค.กยังส่งเงินสงเคราะห์รายศพผู้ที่ได้ทำประกันสินเชื่อเอาไว้ไปให้กับธนาคารออมสิน ดังนั้นทางธนาคารออมสินจึงรับที่จะไปตรวจสอบให้ แต่ในส่วนของสำนักงาน สกสค.ก็ต้องมาจัดทำรายละเอียดว่าผู้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค. 6 และ 7 ซึ่งได้ทำสัญญาตาม MOU ฉบับที่ 4 นี้มีการส่งเงินสงเคราะห์รายศพของสมาชิกที่เสียชีวิตไปให้ธนาคารออมสินแล้วจำนวนกี่ราย และเป็นเงินจำนวนเท่าใด เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2.สำนักงาน สกสค.ได้ขอต่อรองให้ธนาคารออมสินปรับแก้ไขสัญญาเงินกู้โครงการ ช.พ.ค. 6 และ 7 เนื่องจากในสัญญาข้อ 6 กำหนดว่า กรณีผู้กู้ที่มีประกันจะต้องต่ออายุประกันภายใน 30 วัน ถ้าไม่ต่อธนาคารออมสินจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน แล้วนำค่าเบี้ยประกันไปเพิ่มเป็นเงินกู้โดยอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนนี้สำนักงาน สกสค.ได้ขอต่อรองว่ากรณีที่ผู้กู้มีหนี้คงเหลือไม่เกิน 7 แสนบาท ซึ่งเงินสงเคราะห์รายศพของกองทุน ช.พ.ค.สามารถชำระแทนครูได้เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่ควรบังคับหรือตั้งเป็นเงื่อนไขให้ครูต้องต่อประกันได้หรือไม่ หรือหากครูจะทำก็ขอให้ทำด้วยความสมัครใจไม่ใช่การบังคับทำ โดยในประเด็นนี้ธนาคารออมสินรับปากที่จะนำไปหารือกับบอร์ดของธนาคาร หากบอร์ดเมตตาช่วยครูในประเด็นนี้ ก็สามารถทำข้อตกลงแนบท้ายในสัญญาในภายหลังได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับครูได้ไม่น้อย
“สำหรับเรื่องที่ 3.สำนักงาน สกสค.เห็นว่า การทำประกันเงินกู้รอบใหม่การพิจารณาบริษัทประกันจะต้องพิจารณาร่วมกันระหว่างธนาคารออมสินกับสำนักงาน สกสค. ดังนั้นผมจึงเสนอว่าบริษัทประกันที่จะเข้ามารับทำประกันชีวิตให้กับครูจะต้องเป็นการทำประกันชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่เป็นการทำสัญญาแบบประกันวินาศภัยเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจะต้องเป็นการทำประกันประเภทประกันสินเชื่อที่ทุนประกันจะต้องลดลงตามหนี้ เพื่อให้เบี้ยประกันถูกลง ที่สำคัญจะต้องปลอดค่าคอมมิชชั่นทุกชนิด เพื่อให้มีเบี้ยประกันที่ถูกที่สุด นอกจากนี้บริษัทประกันที่จะเข้ามาจะต้องให้ครูเลือกอัตราเบี้ยประกันตามเพศ ตามอายุ และตามระยะเวลาที่เอาประกัน ไม่ให้บังคับว่าครูจะต้องทำประกันกี่ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากธนาคารออมสินถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทางธนาคารจึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ชุด ชุดที่ 1 ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของบริษัทประกันชีวิต โดยมีกรรมการจากทางสำนักงาน สกสค.เป็นประธาน ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้จะต้องจัดทำกรอบมาตรฐานขั้นต่ำของบริษัทประกันชีวิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือน ม.ค.2562 นี้ จากนั้นจะกำหนดวันให้บริษัทประกันที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามกรอบมาตรฐานได้ยื่นซองเพื่อแข่งขันราคาเบี้ยประกัน โดยมีคณะกรรมการอีกชุดเพื่อทำการคัดเลือกบริษัทที่เสนอราคาเบี้ยประกันถูกที่สุด มีนายชาติชาย เป็นประธาน เมื่อได้บริษัทประกันแล้วก็จะเรียกครูไปทำสัญญาต่อไป” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า จากข้อมูลมีครูที่จะต้องต่อประกันชีวิตในปี 2561-2562 จำนวนทั้งสิ้น 385,705 คน ในจำนวนนี้กรมธรรม์หมดอายุไปแล้ว 1 หมื่นกว่าคน ทางบริษัททิพยประกันภัยได้ต่ออายุกรรมธรรม์ให้ไปแล้ว และจะหมดอายุในเดือน ม.ค.นี้อีก 1,175 คน เดือน ก.พ.อีก 587 คน ซึ่งทั้ง 2 เดือนนี้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการจัดหาบริษัทประกันใหม่ ดังนั้นจึงให้ธนาคารออมสินเจรจากับบริษัททิพยประกันภัยช่วยต่อสัญญากรมธรรม์ให้กลุ่มนี้ไปก่อน แต่มีสัญญาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้ผู้กู้สามารถเลือกบริษัทประกันได้ใหม่ในปีต่อไป อย่างไรก็ตามยังมีผู้กู้โครงการ ช.พ.ค. 6 และ 7 ที่จะต้องต่อประกันแบบอัตโนมัติ เนื่องจากกรมธรรม์จะหมดอายุในเดือน มิ.ย.2562 อีกจำนวน 343,991 คน ดังนั้นหากมีการจัดหาบริษัทประกันใหม่ตามแนวทางที่ได้มีการพูดคุยกันนี้ ครูกลุ่มนี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่แพงอีกต่อไป เท่าที่ตนมีข้อมูลในมือขณะนี้คาดว่าครูจะเสียค่าเบี้ยประกันถูกกว่าที่เดิม 50% หรืออาจจะมากกว่านั้นแน่นอน ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่สำนักงาน สกสค.และธนาคารออมสินได้ตั้งใจทำให้ครู
สำหรับสมาชิก ช.พ.ค.ที่ยังค้างชำระเงินกู้อยู่ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 421,565 คน แบ่งเป็นโครงการ ช.พ.ค.1 จำนวน 10,193 คน เป็นเงิน 1,966 ล้านบาท โครงการ ช.พ.ค.2-3 จำนวน 21,007 คน เป็นเงิน 2,422 ล้านบาท โครงการ ช.พ.ค.4 จำนวน 4,610 คน เป็นเงิน 583 ล้านบาท โครงการ ช.พ.ค. 5 จำนวน 41,714 คน เป็นเงิน 19,109 ล้านบาท โครงการ ช.พ.ค.6 จำนวน 155,377 คน เป็นเงิน 142,000 กว่าล้านบาท และโครงการ ช.พ.ค.7 จำนวน 188,614 คน เป็นเงิน 230,000 กว่าล้านบาท โดยกลุ่มผู้กู้ที่เป็นหนี้มากที่สุดคือกลุ่มอายุ 51-60 ปี มีมากถึง 168,000 กว่าคน ส่วนผู้กู้ที่ค้างชำระเงินกู้มากที่สุดคือกลุ่มที่กู้เงิน 600,000-1,000,000 บาท รองลงมาคือกลุ่มที่กู้ 1,000,000 บาทขึ้นไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 มกราคม 2562