กสศ. ร่วมมือ สพฐ. ตรวจสอบสถานะนักเรียนมีตัวตน และยากจน ต้องเร่งช่วยเหลือจริง เพื่อยืนยันข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด ยกย่องครูเป็นหัวใจ ช่วยเด็กยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดนอกระบบ ก่อนจ่ายเงินอุดหนุนงวดแรกตามกำหนดปลายธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.61 นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หลังจากที่ กสศ.เปิดให้สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ส่งข้อมูลเพื่อยืนยันรายชื่อนักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข คุณครูทั่วประเทศได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการมีตัวตนอยู่จริงและข้อมูลลักษณะที่อยู่อาศัยเพื่อประเมินสถานะความยากจนของนักเรียนรายคนแล้ว พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีตัวตนอยู่จริงและขอรับเงินอุดหนุนจาก กสศ.จำนวน 421,350 คน คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดซึ่งมีอยู่จำนวน 629,319 คน ตามสถิติเมื่อมิถุนายน 2561 โดยที่เหลืออีก 207,969 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่ขอรับเงิน จำนวน 65,433 คน เนื่องจากสถานะเศรษฐกิจของนักเรียนและครอบครัวดีขึ้น นักเรียนย้าย ลาออก พักการเรียนหรือเสียชีวิต และอีก 142,536 คนยังไม่ได้รับการบันทึกข้อมูลจากครูเข้ามาตั้งแต่มีการเปิดระบบตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561
นายสุภกร กล่าวว่า กสศ.เพิ่งจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนยากจนที่สุดครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงจำเป็นต้องเข้มงวดตรวจสอบสถานะความยากจนด้วยหลักเกณฑ์ตามผลวิจัยเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กเหล่านี้มีตัวตนและอยู่ในสถานะครัวเรือนยากจนพิเศษจริง คุณครูทั่วประเทศกรุณาสละเวลาตรวจสอบข้อมูลตามกำหนด ทางกสศ.จะขยายเวลาเปิดรับข้อมูลสถานะครัวเรือนและรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์อีกครั้งระหว่างวันที่ 17-21 ธันวาคม 2561 นี้ เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด เนื่องจากตัวเลขที่หายไปจำนวน 142,536 คนนั้นสำคัญเพราะอาจมีนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนมาก และมีแนวโน้มจะหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจน จะเสียโอกาสในการได้รับเงินอุดหนุนนี้
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านการคัดกรอง และได้รับการตรวจสอบข้อมูลความยากจนแล้วเพื่อโอนเงินอุดหนุนงวดแรกจำนวนร้อยละ 75 ตามกำหนด ระหว่างวันที่ 26-28 ธันวาคมนี้ โดยแบ่งการจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.จัดสรรตรงให้แก่นักเรียน/ผู้ปกครองผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารหรือผ่านสถานศึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียนของเด็ก และ 2.จัดสรรผ่านสถานศึกษาเป็นค่าอาหารในส่วนที่ยังไม่มีการจัดสรร และค่ากิจกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ
"ต้องยอมรับว่า บทบาทของครูในฐานะผู้ป้อนข้อมูลคือหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,800 แห่ง ที่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร บางโรงเรียนมีครูเพียง 2 คน ด้วยภาระงานที่ล้นมือ อาจส่งผลให้ไม่มีเวลาดำเนินการเรื่องนี้ ทางออกหนึ่งที่จะช่วยได้ คือ หากผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลานของตนเองน่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์คัดกรอง อาทิ ครัวเรือนมีรายได้รวมกันหารเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน สมาชิกครัวเรือนมีภาวะพึ่งพิง เช่น พิการหรือไม่มีรายได้ สภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่มีพาหนะ สามารถแจ้งไปยังสถานศึกษาเพื่อได้รับการตรวจสอบข้อมูลสถานะปัจจุบัน ว่าตรงตามเงื่อนไขที่จะได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือหรือไม่ โดยนักเรียนที่รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้จะมีการกำชับดูแลไม่ให้ขาดเรียน" นายสุภกรกล่าว
ทั้งนี้กสศ.เปิดสายด่วน ให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน รวมถึงปัญหาเชิงเทคนิคในการใช้ระบบต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร 02-079-5475 กด 1 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ Facebook : www.facebook.com/cctthailand
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 17 ธันวาคม 2561