“ธีระเกียรติ” กำชับ สพฐ. ถือเป็นนโยบายปราบ “เด็กผี” ลั่นต้องไม่มีอีก ขณะที่ “บุญรักษ์” สั่ง สพท. รีเช็กข้อมูลย้าย ผอ.ร.ร. ช่วงที่ผ่านมา ระบุ ร.ร. กรอกข้อมูลเด็กในระบบ DMC ครบถ้วนแล้ว ขอเวลา 1-2 วัน เคลียร์ข้อมูลรู้ชัด “เด็กตัวจริง-เด็กผี” งอกมาเท่าไหร่
จากกรณีมีการร้องเรียนว่า โรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการรายงานตัวเลข นักเรียนไม่มีตัวตน หรือ เด็กผี และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้สุ่มตรวจสอบโรงเรียนในหลายจังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ซึ่งพบข้อมูลด้วยว่าตัวเลขเด็กผีที่เพิ่มขึ้นเพื่ออัปเกรดขนาดโรงเรียนให้ใหญ่ขึ้นเพื่อหวังผลการโยกย้าย ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 3 เข้าตรวจสอบโรงเรียน##### จ.อุบลราชธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพม.) เขต 29 ตรวจสอบข้อมูลและตรวจนับนักเรียน พบว่า มีนักเรียน 460 คน และพบนักเรียนไม่มีตัวตนในระบบ DMC เกือบ 60 คน ที่ต่างจากข้อมูลที่รายงานไว้ในปี 2559 และ 2560 โดยนำชื่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่งมากรอกใบสมัครและนำเลข 13 หลักมากรอกเข้าระบบ DMC โดยตัวนักเรียนยังอยู่ที่โรงเรียนเดิม และตัวเด็กมีบ้านพักห่างจากโรงเรียนดังกล่าวถึง 60-80 กิโลเมตร จึงมีการตั้งข้อสังเกตอาจมีเจตนารายงานข้อทูลที่เป็นเท็จเพื่ออัพเกรดขนาดโรงเรียนจากขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขนาดกลาง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้อำนวยการโรงเรียน#####ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน#### ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่
วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้ทราบเรื่องดังกล่าว และได้กำชับไปยัง ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แล้วว่าเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายต้องปราบปรามอย่างจริงจังให้ลงไปตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้ เพราะ สพฐ. มีข้อมูลอยู่แล้วโรงเรียนใดที่เพิ่งมีการโยกย้ายผู้บริหารและต้องการยกระดับโรงเรียน ก็ให้ไปสุ่มตรวจสอบโรงเรียนเหล่านี้ พร้อมกำชับให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ท. ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากใครมีข้อมูลการข่าวใดก็ขอให้ส่งเข้ามาที่ ศธ.ได้เลย
“คนที่ทำบัญชีเด็กผีเพื่อต้องการยกระดับโรงเรียน เราก็แทบจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าโรงเรียนไหนเพิ่งย้ายเร็วๆนี้ และต้องการยกระดับก็ให้ สพฐ. ลงไปสุ่มตรวจสอบก่อนเลย ซึ่ง สพฐ. ก็จะทำตามแนวทางนี้ก่อน ซึ่งเรื่องนี้จะเหมือนกรณีทุจริตโครงการอาหารกลางวัน แต่จะมากกว่าหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ถ้าใครทุจริตและจับได้ไม่ต้องสอบนานเพราะถ้าข้อมูลชัดเจนว่าทุจริตก็มีโทษทางวินัย ไม่ว่าเหตุจะมาจากไหนก็โดนทั้งนั้น ซึ่งปัญหาเด็กผีจะต้องไม่มีอีกต่อไปในประเทศ ตอนนี้ผมขอจับผีก่อน แต่คงต้องใช้เวลาปราบสักระยะ ตอนนี้ผมก็ขอจับผีก่อนและก็ปรามไว้ก่อน และเชื่อว่า ไม่น่าจะมีใครกล้าทำอีก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ส่วนที่จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.หรือ ว24 หรือไม่นั้น ตรงนี้เป็นเรื่องเชิงระบบ แต่การกำหนดเงื่อนไขมีที่มาที่ไปการจะแก้หรือไม่ ต้องไม่ใช่เพราะประเด็นเรื่องเด็กผี สิ่งที่สำคัญที่ต้องแก้ไข คือ สมองของคนที่คิดจะโกง แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็จับไปอยู่ที่ที่สมควรจะอยู่
ด้าน ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า วันนี้ตนจะทำหนังสือสั่งการไปยัง ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบข้อมูลโรงเรียนที่มีการย้ายผู้บริหารในรอบปกติและรอบเพิ่มเติม ทั้งที่มีการย้ายในโรงเรียนขนาดเดียวกันและการย้ายไปในโรงเรียนที่ขนาดใหญ่กว่า อยากชี้แจงให้เข้าใจว่าจุดยืนของ รมว.ศึกษาธิการ และ สพฐ.ในดำเนินการเรื่องนี้จะเอาผิดแน่นอนถ้าตรวจสอบพบว่ากระทำผิดจริง ทั้งความผิดทางวินัย การให้ข้อมูลทางราชการที่เป็นเท็จมีโทษทางอาญา และถ้าพบมีการนำงบประมาณไปใช้ก็มีความผิดทางแพ่ง ซึ่งการพิจารณาความผิดที่จะเกิดขึ้นจะยึดจากข้อมูลนักเรียน ณ วันที่ 10 มิ.ย. ที่ใช้อ้างอิงในการย้าย ว่า ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ และที่ผ่านมา รมว.ศึกษาธิการ พูดชัดเจนว่ากรณีมีการกระทำผิดในการให้ข้อมูลเด็กผี ถือว่ามีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นโรงเรียนใด หรือ ผอ. โรงเรียนคนใด
“ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสตรวจสอบทั้งระบบว่าข้อมูลในการขอย้ายว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ณ วันที่ 10 มิ.ย.หรือไม่ ซึ่งสิทธิ์ที่แท้จริงของ ผอ.โรงเรียนในการขอย้ายไปโรงเรียนขนาดเดียวกัน หรือย้ายข้ามขนาดโรงเรียนนั้น ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เคยมีหนังสือตอบกลับมายัง สพฐ. แล้วว่า กรณี ผอ.โรงเรียน เคยปฏิบัติงานที่โรงเรียนขนาดใดก็ให้ถือว่ามีประสบการณ์ในโรงเรียนขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ถ้า ผอ.โรงเรียนเคยบริหารโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 500 คนโรงเรียนขนาดกลาง ก็สามารถขอย้ายไปในโรงเรียนขนาดกลาง หรือขอย้ายไปในโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ เพราะยึดประสบการณ์การบริหารไม่ใช่ยึดจำนวนเด็ก ณ ปัจจุบัน” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่ให้โรงเรียนทั่วประเทศดำเนินการตรวจนับจำนวนนักเรียนและให้รายงานข้อมูลในระบบฐานข้อมูลนักเรียน หรือ DMC ภายในวันที่ 10 ธ.ค.นั้น โรงเรียนได้ส่งข้อมูลครบถ้วนและ สพฐ.ได้ปิดระบบในการให้โรงเรียนเข้ากรอกเรียบร้อยแล้ว จากนี้ สพท.ทั่วประเทศจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลของโรงเรียนในพื้นที่อีกครั้งคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการครั้ง สพฐ. ได้ข้อมูล 2 ส่วน คือ 1. ข้อมูลนักเรียนที่แท้จริงของโรงเรียนเพื่อจัดสรรงบประมาณภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ลงไป และ 2. ข้อมูลนักเรียนที่ไม่มีตัวตน ที่จะแบ่งเป็น ไม่มีตัวตนแต่เป็นไปตามระเบียบระหว่างการติดตามหรือเพื่อจำหน่ายออก และไม่มีตัวตนจริงๆ ที่ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ สพฐ. ต้องควานหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นและผู้ที่ทำต้องรับผิดชอบในส่วนนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 11 ธันวาคม 2561
เรื่องที่เกี่ยวข้อง