บอร์ด กอปศ. สรุปสภาพปัญหาการศึกษาของประเทศ พบแก้ได้ยากที่สุด คือ ปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นเอกภาพของกระทรวงศึกษาธิการ
วันนี้ (11 ธ.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า กอปศ.ได้สรุปสภาพปัญหาการศึกษาของประเทศ ซึ่งพบว่ามีหลากหลาย แต่ปัญหาที่เห็นว่าแก้ได้ยากที่สุด คือ ปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นเอกภาพของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่แบ่งเป็น 5 องค์กรหลัก หรือแต่ละแท่ง โดยแต่ละแท่งเป็นอิสระต่อกัน และมีผู้บริหารระดับ 11 ถึง 5 คน การบริหารงานจึงไม่เป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงของนโยบายการศึกษา เพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย โดยเฉพาะระดับรัฐมนตรี แม้แต่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหลักก็มีการเปลี่ยนและย้ายบ่อยเช่นกัน ส่วนระบบการบริหารก็เป็นการสั่งจากส่วนกลางเป็นหลัก โดยเป็นลักษณะเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งที่สภาพของพื้นที่ ลักษณะการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ แม้แต่ประชากรในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน แต่วิธีการจัดการกลับใช้เหมือนกันทั้งประเทศ จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจที่มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยให้กระจายอำนาจลงไปส่วนภูมิภาคก่อนแล้วค่อยไปถึงโรงเรียน แต่จนขณะนี้อำนาจส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถึงโรงเรียน ไปหยุดอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และส่วนที่ถึงโรงเรียนแล้วก็ยังถูกกำกับจนทำให้ขาดประสิทธิภาพ
“ประเด็นสำคัญ คือ ปัจจุบันประชากรลดลง ขณะที่การศึกษาปรับเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ดังนั้นจะต้องมีการปรับโครงสร้างของ ศธ.ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อจัดการศึกษาให้เหมาะสม การใช้ดิจิทัลก็มีความจำเป็น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับลดขนาดระบบการบริหารจัดการลงได้ อย่างไรก็ตาม กอปศ.ได้สรุปปัญหา และข้อเสนอแนะไปในแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความเห็นว่าจะเป็นไปในทิศทางใดจึงจะเหมาะสมที่สุด" ศ.นพ.จรัส กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2561