"สมพงษ์" ชี้ข้อเสียใส่คิวอาร์โค้ดในหนังสือเรียน สร้างภาระผูัปกครองต้องซื้อสมาร์ทโฟนให้เด็ก ขณะที่ผลสำรวจพบ คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการเรียนรู้เพียง 20% นอกนั้นใช้เสพเกม เรื่องเพศ ความรุนแรง สุ่มเสี่ยงสร้างปัญหาตามมา
ตามที่มีเสียงวิจารณ์กรณีที่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปล่อยให้สำนักพิมพ์ใส่ คิวอาร์โค้ด (QR Code) เนื้อหาเพิ่มเติมลงในหนังสือเรียนวิชาต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน จนก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และยังเป็นการสร้างภาระให้ผู้ปกครอง สร้างความฟุ่มเฟือย รวมถึงส่งเสริมสังคมก้มหน้าอีกด้วยนั้น ในวันนี้ (10 ธ.ค.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผอ.ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจหวังดีว่า เพื่อความทันสมัย จนลืมคิดว่าจะส่งผลเสียตามมา เช่น สร้างภาระให้ผู้ปกครองต้องซื้อสมาร์ทโฟนให้เด็ก ถ้าไม่ซื้อ ลูกก็จะมีปมด้อย เกิดปัญหาแบ่งกลุ่มเด็กรวย เด็กจน สร้างความเหลื่อมล้ำ เด็กบางคนอยากได้ก็อาจลักขโมย และจากผลการสำรวจพบว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการเรียนรู้เพียง 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% ใช้เพื่อเสพเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะเกม เรื่องทางเพศ ความรุนแรง แม้แต่กลุ่มเด็กอายุ 12-13 ปี ที่นิสิตจุฬาฯลงพื้นที่ทำกิจกรรมในบางชุมชน ก็พบข้อมูลว่า มีการรวมกลุ่มกัน 5-6 คน นั่งดูหนังโป๊จากสมาร์ทโฟน วันละ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเด็ก ๆ วัยนี้ยังไม่มีทักษะแยกแยะเสพสื่อที่ดี-ไม่ดี ก็จะยิ่งไปสร้างปัญหาอาชญากรรมในกลุ่มเด็กอย่างกว้างขวางขึ้น ทั้งอาชญากรรมทางเพศ ความรุนแรง และยังส่งเสริมสังคมก้มหน้าเร็วขึ้นด้วย
“ขนาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส เขายังสั่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี นำโทรศัพท์เข้าโรงเรียน เพราะเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ดังนั้น สพฐ.ควรคิดทบทวนให้ดีว่า เรื่องนี้อาจเป็นแค่เทคนิคในการแข่งขันทางธุรกิจของสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ส่งผลเสียต่อเด็กมากแค่ไหน ควรสั่งห้ามหรือไม่ ผมอยากให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. พิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ปกครองโดยตรง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ด้านนางสุภาวดี จิรภาสพงศา ผอ.โรงเรียนชุมชนวัดไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า เรื่องนี้แม้จะมีข้อดีคือ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก็มีผลเสียมากเช่นกัน ทำให้เด็กใช้เป็นข้ออ้างเรียกร้องผู้ปกครองให้ซื้อสมาร์ทโฟนให้ กลายเป็นภาระกับผู้ปกครอง และเมื่อเด็กได้มาแล้วก็คงไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนอย่างเดียว แต่จะใช้เล่นเกม และเสี่ยงกับการเสพสื่อที่เนื้อหาไม่เหมาะสม ทั้งความรุนแรง และเรื่องเพศ ทั้งนี้อยากให้ สพฐ.ออกหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ครูด้วย เช่น ให้สำนักพิมพ์เลิกใส่คิวอาร์โค้ดในหนังสือเรียนเด็ก แต่ให้ใส่ในคู่มือครูแทน เพื่อให้ครูคัดกรองเนื้อหาในคิวอาร์โค้ดก่อนจะสอนเด็กว่า ถูกต้องหรือไม่ ดีกว่าไปเปิดกว้างให้เด็กใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการสร้างปัญหาตามมา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันที่ จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2561