นักวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ 3 ปัญหาเก่าตอกย้ำวิกฤติการศึกษาไทย รอพรรคการเมืองใหม่มาสาง เปิดเวทีหาแนวร่วมกำหนดนโยบายปฏิรูปการศึกษา 2ธ.ค. นี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
วันนี้(28พ.ย.)นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยนโยบายด้านการปฎิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาตลอด เช่น ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เป็นต้น แต่ 3 ปัญหาการศึกษาเก่าก็ยังอยู่เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนวิกฤตการศึกษาไทย ได้แก่ 1.ปัญหาคุณภาพนักเรียนตกต่ำดูจากผลการสอบ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ปี 2015 สะท้อนว่า นักเรียนไทยจำนวนมากไม่สามารถอ่านจับใจความ และประยุกต์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ นอกจากผลสอบแล้วนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าร้อยละ 60 ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนต่อหรืออยากทำงานด้านใด และนักเรียนที่จบอาชีวศึกษาจำนวนมากก็มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
นายพงศ์ทัศ กล่าวตอ่ไปว่า 2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ผลจากการสำรวจของ กสศ. พบว่า เยาวชนอายุ 15-17 ปี ประมาณ 240,000 คน ไม่ได้เรียนต่อหลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากความยากจน ส่วนที่มีโอกาสเรียนต่อก็มีทักษะต่างๆ เช่น การอ่านต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดี เทียบเท่ากับ 2.3 ถึง 3 ปีการศึกษาและ3.ปัญหาประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งรัฐบาลไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ทำให้มีรายจ่ายสูงถึง 5.2 แสนล้านบาทในปี 2559 แต่ผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กไทยกลับยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าใช้เวลาเรียนมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คะแนนสอบกลับต่ำกว่าทุกวิชา
“สาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้เพราะนโยบายขาดเสถียรภาพ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรมว.ศึกษาธิการ 21 คน นโยบายจึงเปลี่ยนไปตามรัฐมนตรีแต่ละคน ไม่มีจุดหมายร่วมกันอย่างชัดเจน ภาคการเมืองมักเลือกใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น แต่ไม่เพียงพอให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา เพราะการพัฒนาคนต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล นโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นการสั่งการแบบบนลงล่าง โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติจริง” นายพงศ์ทัศ กล่าวและว่าส่วนการแก้ปัญหาการศึกษาไทยให้สำเร็จได้นโยบายการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองใหม่ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันกันในตลาดการเมืองในระยะสั้น และไม่ใช่นโยบายที่ไว้ค่อยกำหนดหลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว และภาคสังคมโดยประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP จึงจัดเวทีให้พรรคการเมืองและประชาชนร่วมกันหาแนวทางการกำหนดนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาในงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 2 ธ.ค. นี้ วสนใจลงทะเบียนได้ที่ https://www.eventbrite.com/e/52695983104
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2561