เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ 449/2561 เรื่อง นโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ 2562 โดยมีเนื้อหาสาระ ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้ทุกองค์กรหลักและหน่วยงานในสังกัด นำนโยบายและจุดเน้นไปพิจารณาดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งบริบทที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษา โดยยึดกรอบการปฏิรูปการศึกษา น้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษา ที่จะต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้เด็ก เยาวชน และผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องสถาบันหลักของชาติ สร้างพื้นฐานชีวิต (อุปนิสัย) ที่เข้มแข็ง สร้างความรู้ ทักษะเพื่อให้มีอาชีพ มีงานทำ และได้นำเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ ที่มุ่งให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 และยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดหลักการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กเล็ก (ปฐมวัย)
ที่สำคัญได้ยึดวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในประเด็นสำคัญคือ
1) ยกระดับคุณภาพการศึกษา
2) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
3) มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4) ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
หลักการ
1. ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ได้รับการศึกษาในระบบต่าง ๆ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. เด็ก เยาวชน ผู้เรียน มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็ง (สุขภาพ และอุปนิสัย)
3. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
จุดเน้นการจัดการศึกษา
ระดับก่อนอนุบาล ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ดังนี้
1. ระดับก่อนอนุบาล เน้นประสานหน่วยงานอื่น ในการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในด้านสุขภาพและโภชนาการ
2. ระดับอนุบาล เน้นความร่วมมือ รัฐ ท้องถิ่น เอกชน พ่อแม่และผู้ปกครอง ในการจัดศึกษาระดับอนุบาล โดยมีจุดเน้น
- พัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
- จัดประสบการณ์การเรียนรู้ เน้นการเรียนปนเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข และสร้างกิจกรรมเสริม
3. ระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ครูและผู้เรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม จัดแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ โดยมีจุดเน้น
- เรียนภาษาไทย เน้นเพื่อการสื่อสาร และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเรียนวิชาอื่น
- เรียนภาษาอังกฤษ เน้นเพื่อการสื่อสาร
- เรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง สถานการณ์จำลอง กิจกรรมการเรียนรู้จากปัญหาและการลงมือปฏิบัติ สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และเรียนรู้อย่างมีความสุข
- เรียนรู้ Digital และใช้ Digital เป็นเครื่องมือการเรียนรู้
- ส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรม
- จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่เชื่อมโยงสู่อาชีพและการมีงานทำ
- พัฒนาครูตามความต้องการของครูและสถานศึกษา (คูปองครู)
- จัดให้มีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ
4. ระดับอาชีวศึกษา จัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และความต้องการของสังคม ทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม บริการ และเป็นผู้ประกอบการเอง โดยมีจุดเน้น
- จัดการศึกษาระบบทวิภาคี พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในอาชีพเฉพาะด้าน เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลอง และเรียนรู้จากกิจกรรม
- เรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และใช้เพื่อการประกอบอาชีพ
- เรียนรู้ Digital และใช้ Digital เป็นเครื่องมือการเรียนรู้
- จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาค
5. ระดับอุดมศึกษา เน้นการวิจัยและค้นหาแนวทางการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีจุดเน้น
- เรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และมีทักษะภาษาในระดับสูง ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความรู้ทั้งในและต่างประเทศ
- เรียนรู้ Digital และใช้ Digital เป็นเครื่องมือการเรียนรู้
- ผู้เรียนมีศักยภาพและมีองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นไปสู่การปฏิบัติ
เพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถตอบสนองเป้าหมาย เจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ใช้กระบวนการพัฒนาคุณธรรม บูรณาการในทุกกระบวนการเรียนรู้
2. สอดแทรกเรื่องความโปร่งใส ยุติธรรม และป้องกันการทุจริต ให้มีในทุกมิติ ทั้งการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหาร
3. ให้องค์กรหลักนำไปกำหนดนโยบายขององค์กรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติขององค์กร
4. เน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกกลุ่มบุคคล ทุกระดับ ทุกประเภท สู่การลดความเหลื่อมล้ำในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกหน่วยงาน
5. ให้ศึกษาธิการจังหวัด นำเสนอคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด จัดทำแผนและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในการจัดการศึกษาในแต่ละจังหวัดให้เป็นรูปธรรม
6. ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูล (Big Data) สำหรับเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และเครื่องมือในการบริหาร
7. ให้หน่วยงานทางการศึกษา จัดให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความเชื่อมโยง ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
8. ให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานประสานงาน ดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในทุกระดับ เพื่อให้เด็กพิเศษได้รับการพัฒนา สามารถเรียนรู้ และพึ่งพาตนเองได้
9. ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นหน่วยงานหลัก และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และการศึกษาของผู้สูงอายุ
10. ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และศึกษาธิการภาค มีบทบาทและหน้าที่ตรวจราชการ ติดตาม ประเมินผลทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ข้อมูล สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ.
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี (ภาพรัฐมนตรี), พงษ์อนันต์ คำน่าน (ภาพครูนักเรียน)
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา www.moe.go.th/websm/2018/5/449.html