สถานี ก.ค.ศ.
การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ
สวัสดีค่ะ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทุกท่าน ในครั้งนี้ มีเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในสถานี ก.ค.ศ. ครั้งหนึ่งแล้ว ว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนประเภทต่างๆ มีความลักลั่นกันเกี่ยวกับระยะเวลาการดำเนินการทางวินัย ตลอดจนระยะเวลาในการสั่งลงโทษ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 อนุมัติเป็นหลักการให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้พ้นจากราชการขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลในข้าราชการฝ่ายพลเรือน ให้เป็นแนวเดียวกัน โดยให้มีการ แก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
2. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
3. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
4. ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
5. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
โดยมีสาระสำคัญ คือ หากมีกรณีถูกกล่าวหาอยู่ก่อนพ้นจากราชการ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยจะต้องดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการหากมีกรณีถูกล่าวหาหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังจากที่พ้นจากราชการแล้วจะต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้น พ้นจากราชการ และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ สำหรับกรณีที่ศาลปกครอง มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือโดยองค์กรพิจารณาอุทธรณ์ หรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษเพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ แล้วแต่กรณี
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดข้าราชการซึ่งพ้นจากราชการไปแล้วนั้นการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้วแต่กรณี
ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการ และอยู่ในระหว่างพิจารณาแปรญัตติ
ด้วยเหตุที่ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ซึ่งพ้นจากราชการ จึงอาจจะมีผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับผิดชอบ หากดำเนินการล่าช้า อาจมีความรับผิดตกแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับได้ ในการนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษาธิการจังหวัด เพื่อสำรวจการดำเนินการทางวินัยในสำนวนที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งพ้นจากราชการเป็นผู้ถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมทั้ง รายงานข้อมูลมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. ว่า ปัจจุบัน สำนวนการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงที่ยังไม่มีการสั่งลงโทษ หรือสั่งยุติเรื่อง นั้น มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งพ้นจากราชการแล้ว ถูกดำเนินการทางวินัยกรณีความผิดใดบ้าง และเริ่มดำเนินการทางวินัยตั้งแต่เมื่อใด โดยการรายงานข้อมูลนั้น ได้กำหนดให้บันทึกข้อมูลตามรายละเอียดใน QR Code หรือที่เว็บไซต์ แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
สำหรับกรณีที่หน่วยงานใด ไม่มีการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้พ้นจากราชการ ขอให้แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ทราบ ภายในกำหนดเดียวกัน ข้อมูลที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับ นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการพิจารณาในชั้นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ จะได้วางแผนการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้พ้นจากราชการ ให้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการนี้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ให้ความอนุเคราะห์สำรวจและส่งข้อมูลถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ตามกำหนดด้วย และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ดร. อุษณีย์ ธโนศวรรย์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561