รมว.ศึกษาธิการ สั่ง สพฐ.กวาดล้างปัญหาเด็กผี พบ ข้อมูลใหม่มีเด็กผีเพิ่มอีกที่โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานีและร้อยเอ็ด เร่ง สอบสวนด่วน แนะ สพฐ.ต้องสร้างระบบข้อมูลเด็กที่สะท้อนความเป็นจริง จี้ เขตพื้นที่ต้องรับผิดชอบหากมีปัญหาเด็กผีเกิดขึ้นในพื้นที่
วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มารายงานให้รับทราบว่าพบข้อมูลตัวเลขนักเรียนซ้ำซ้อน หรือ เด็กผี ที่โรงเรียน 1 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ตนจำข้อมูลไม่ได้ว่าเป็นโรงเรียนขนาดไหนและเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดคือ มีการย้ายรายชื่อเด็กจากโรงเรียนเอที่ห่างออกไป 60 กม.มาใส่ข้อมูลที่โรงเรียนบี จำนวน 40 คน และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ทำเรื่องนี้เป็นคนเก่าที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นแล้ว แต่ตนไม่ปล่อยไว้จะมีการเรียกมาสอบสวนอย่างแน่นอน และมีอีกทีคือโรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด ดังนั้นตนจึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สะสางเรื่องปัญหาเด็กผีครั้งใหญ่เหมือนโครงการอาหารกลางวัน เพราะนโยบายของตนใครก็ตามที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและยังแจ้งข้อมูลเท็จในลักษณะนี้ให้ถือว่าผิดวินัยร้ายแรง เพราะตนไม่อยากจะให้ข่าวว่าปัญหาเด็กซ้ำซ้อนไม่มีจริงแต่ความจริงคือมีปัญหาเรื่องเด็กผีแน่นอน โดยปัญหาเด็กผีนั้นคิดว่ามีโรงเรียนจำนวนไม่มาก ซึ่งตนรับไม่ได้กับปัญหานี้ ดังนั้นจึงให้มีการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น
"ผมจะให้มีการกวาดล้างเรื่องนี้ครั้งใหญ่ โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ทุกแห่งจะต้องไปสำรวจข้อมูลนักเรียนแต่ละโรงให้ชัดเจนซึ่งเรื่องนี้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ห้ามให้โรงเรียนมีปัญหาเด็กผีเกิดขึ้น และผมจะมีทีมงานลงไปสุ่มดูด้วย ส่วนที่มีการพบปัญหาเด็กผีของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ด้วยนั้น ปัญหาเด็กผีของโรงเรียนสังกัดสช.มีมานานแล้ว และผมก็จัดการแล้วไป แต่หากพบอีกก็ต้องถูกตรวจสอบ สำหรับการนำข้อมูลบิ๊กดาต้าของศธ.ที่ดำเนินการอยู่ผมคิดว่าจะต้องนำมาเชื่อมโยงกันทั้งระบบทั้งโรงเรียนสช.และโรงเรียนสพฐ." รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ต่อข้อถามว่า สพฐ.ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นเพราะเด็กนักเรียนไม่มาแจ้งลาออกและไปเรียนอยู่นอกระบบแล้วทำให้ไม่สามารถคัดชื่อเด็กออกได้ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนรับทราบแล้ว ซึ่งคิดว่าเป็นการให้เหตุผลไม่ยืดหยุ่น เพราะสพฐ.ตีความเด็กทุกคนต้องมีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาถึงแม้ไปเรียนที่อื่นก็จะต้องรู้ว่าเด็กไปเรียนอยู่ที่ไหน ดังนั้น สพฐ.จะต้องสะท้อนความเป็นจริงของข้อมูล ต้องทำโปรแกรมที่ระบุข้อมูลได้อย่างชัดชัดเจนว่าเด็กไปเรียนอยู่ที่ไหนและเงินต้องไปอยู่ตรงนั้น ซึ่ง เลขาธิการกพฐ.รับปากตนว่า หากไม่มีข้อมูลเด็กเป็นตัวตนจริง และ สพฐ.ยังออกแบบโปรแกรมแก้ปัญหานักเรียนซ้ำซ้อนไม่เสร็จก็จะไม่มีการโอนเงินลงไปให้ สำหรับกรณีการซื้อขายเลื่อนตำแหน่งที่ระบุว่าหากใครอยากย้ายไปโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นให้แฉข้อมูลเด็กผีออกมา ซึ่งในประเด็นนี้เท่าที่ทราบในการตรวจสอบสวนทางลับยังไม่มีเรื่องนี้รายงานมา
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ สพฐ.จะจัดประชุมภายในเรื่องดังกล่าว รวมถึงมีข้อกฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องจนทำให้ระบบเด็กซ้ำซ้อนมีปัญหา เพื่อที่จะสร้างบัญชีรายชื่อนักเรียนให้สมบูรณ์และเป็นข้อมูลปัจจุบัน อีกทั้งจะดูในเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้วยว่า ในกรณีที่ไม่มีเด็กจะดำเนินการอย่างไร หรือจะโอนกลับมาที่ส่วนกลางอย่างไร ทั้งนี้ สพฐ.จะสร้างกลไกที่จะทำหน้าที่ดูแลและติดตามให้บัญชีรายชื่อนักเรียน โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจนับรับรองจำนวนนักเรียนทุกโรงเรียน โดยกรรมการจะมาจากตัวแทนกรรมการสถานศึกษา ครู และประชาชนที่เกี่ยวข้อง และตนคิดว่าการที่เราเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาส่วนร่วมจะสามารถยืนยันในกรณีเด็กหายไปไม่มาเรียน หรือ เด็กที่ขาดเรียนสม่ำเสมอ ว่าเด็กอยู่ที่ไหน และจะติดตามอย่างไร นอกจากนี้ ตนยังได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดำเนินการออกสุ่มตรวจนับหลังจากที่มีการรายงงานจำนวนนักเรียนด้วย โดยอาจจะสังเกตจากโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากขึ้นผิดปกติ อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะมีคณะกรรการตรวจติดตามลงพื้นที่ ตรวจสอบในทุกจังหวัด เพื่อที่จะเป็นการเตือนว่าการรายงานจำนวนนักเรียนต้องตรงไปตรงมา และการตรวจนับนักเรียนจะต้องถูกต้อง โดยจะมีการสุ่มในช่วงก่อนที่จะมีการสรุปจำนวนนักเรียน คือ วัน 10 มิ.ย.และวันที่ 10 พ.ย.ของทุกปีการศึกษา เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนจะสรุปข้อมูลนักเรียนให้ สพฐ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561