สพฐ.จับมือ กสศ. ปฎิรูประบบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน ล็อตแรกจัดสรรงบประมาณ 1.6 พันล้านบาทกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ 6 แสนคน รับเพิ่มภาคเรียนละ 800 บาท คาดเริ่ม 15 ธ.ค.นี้ “บุญรักษ์” สั่งการโรงเรียน-เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด ตั้งกลุ่มส่งเสริมการศึกษาระบบทะเบียน กำกับ ติดตามการบริหารจัดการ สร้างความ มั่นใจโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
วันนี้ (12พ.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมลงนามความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พื่อดำเนินการโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดสพฐ. และประชุมชี้แจงการดำเนินงานการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูทั่วประเทศ ผ่านระบบ Teleconference โดย นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. และกสศ. ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยได้มีจัดทำเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนและกลไกตรวจสอบหลายระดับจากการวิจัย มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาเป็นเวลา3 ปี รวมถึงได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูล และจัดทำแอพพลิเคชั่น เพื่อให้โรงเรียนและคุณครูได้กรอกข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำให้เงินอุดหนุนถูกจัดสรรไปช่วยเหลือนักเรียนตรงสภาพปัญหาและความจำเป็นรายบุคคล และ 2.ปฏิรูปกลไกการจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้เกิดความเสมอภาคของนักเรียนและสพฐ.ได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เป็น BIG DATA พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ในระยะยาว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลนักเรียนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ดำเนินการในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเรียนฟรี 15 ปี และสพฐ.มีการจัดสรรงบอุดหนุนให้นักเรียนยากจน 1,696,433 คน แบ่งเป็นนักเรียนยากจนระดับประถมศึกษา 500 บาทต่อคน/ภาคเรียน และมัธยมศึกษา 1,500 บาท ต่อคน/ต่อภาคเรียน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าและวัสดุเครื่องแต่งกายนักเรียน ค่าอาหารกลางวัน และค่าพาชนะในการเดินทาง อยู่แล้ว ดังนั้น การที่ทางกสศ. ได้เข้ามาอุดหนุนเพิ่มเติมให้นักเรียนที่ยากจนพิเศษ 6 แสนคน ถือเป็นการเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเศรษฐกิจได้ เป็นการเติมให้นักเรียนมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน
“การประชุมเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศผ่าน Teleconference เป็นการชี้แจงดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 ให้สถานศึกษา ครู และเขตพื้นที่การศึกษาเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ทั้งการคัดกรอง ตรวจสอบรายชื่อการมีตัวตนของนักเรียน ก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุน เพื่อการจัดสรรได้มีความแม่นยำให้นักเรียนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือตรงปัญหา และให้โปร่งใส อีกทั้งได้มอบแนวทางแก่สำนักเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนให้มีกลไกล ในการตรวจสอบงบที่ได้รับนั้นถึงนักเรียนอย่างมีหลักฐานหรือไม่ และตรงกับวัตถุประสงค์ และผลที่เกิดขึ้นตรงที่คาดหวังหรือไม่ รวมถึงขอให้มีการจัดกลุ่มส่งเสริมการศึกษาระบบทะเบียน กำกับ ติดตามการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความ มั่นใจโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน” นายบุญรักษ์ กล่าว
ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2561 โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. จะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนคน ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายใต้การจัดสรร 800 บาทต่อคน/ต่อภาคเรียน โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 1.6 ล้านบาท แบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น 2 ส่วน เท่าๆ กัน คือ 1.เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน และค่าครองชีพระหว่างเรียน 2.เป็นเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษาเพื่อกิจกรรมการพัฒนานักเรียนยากจนให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รวมถึงค่าอาหารที่ทางสถานศึกษาจัดหาให้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนในปัจจุบัน ซึ่งระหว่างเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้จะเป็นช่วงที่สถานศึกษาส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษจากผลการคัดกรองเมื่อเทอม 1/2561 ให้แก่ กสศ. โดย สพฐ. และ กสศ. จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับปรุงรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นนักเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลรายได้ และสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคลระหว่างกระบวนการเยี่ยมบ้านในเทอม 2/2561 ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ จากนั้นคณะกรรมการสถานศึกษาจะพิจารณารับรองความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อและผลการคัดกรองทั้งหมดอีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้แก่ กสศ. ทั้งนี้ กสศ.ได้เปิดสายด่วน ให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน รวมถึงปัญหาเชิงเทคนิคในการใช้ระบบต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร 02-079-5475 กด 1 ทุกวัน ตั้งแต่ 07.00 - 20.00 น. หรือที่ Facebook : www.facebook.com/cctthailand
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561