กมว.อนุมัติ 4 มาตรฐานวิชาชีพครู ชงเข้าคุรุสภา30 พ.ย.นี้มอบคณะอนุกลั่นกรองทบทวนพิจารณาจรรยาบรรณทางวิชาชีพครูใหม่ เล็งกำหนดเพดานขั้นสูงค่าต่อตั๋วครูช้า
วันนี้ (10 พ.ย.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กมว.ได้มีมติอนุมัติรายละเอียดของร่างมาตรฐานวิชาชีพครู 4 ด้าน ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพเสนอ คือ 1.ด้านค่านิยมและคุณลักษณะความเป็นครู เช่น การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรมและจริยธรรม การสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาผู้เรียน 2.ด้านความรู้และศาสตร์การสอน เช่น การรู้เท่าทันสังคม การรู้และเข้าใจเกี่ยวกับผู้เรียน และเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร 3.ด้านการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู เช่น การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ สื่อและการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การวางแผนและจัดการเรียน และ 4.ด้านความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน เช่น การเข้าถึงบริบทชุมชน ความร่วมมือกับผู้ปกครองในการพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะมีการเสนอมาตรฐานวิชาชีพครูใหม่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางให้สถาบันที่ผลิตครูนำไปจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน
“ ขณะนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่า 17 แห่ง เห็นด้วยกับการผลิตครูหลักสูตร 4 ปีหมดแล้ว และจะเริ่มผลิตครู 4 ปีให้ทันภายในปีการศึกษา 2562 กระบวนการจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็จะต้องนำมาตรฐานวิชาชีพไปเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ จะต้องดำเนินการยกร่างมาตรฐานวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้บริหารสถานศึกษา 2.ผู้บริหารการศึกษา และ 3.ศึกษานิเทศก์ โดยจะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าน่าจะเสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ เพื่อที่จะให้สถาบันที่เปิดสอนปริญญาโทด้านการศึกษา สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร “รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ทบทวนเรื่องของจรรยาบรรณทางวิชาชีพครูใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจรรยาบรรณทางวิชาชีพครูมีการกำหนดเนื้อหาเยอะมาก ตนจึงเห็นว่าควรมีการปรับให้กระชับ มีความชัดเจน และทันยุคทันสมัย เช่น คนที่ทำหน้าที่ครูจะต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยไม่ต้องลงรายละเอียด ยกตัวอย่างที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ มาเป็นกรอบ เป็นต้น หากเขียนในลักษณะนี้แล้ว พบว่า ครูที่สอน ไปเปิดกวดวิชาแล้วบังคับลูกศิษย์ไปเรียน และถูกผู้ปกครองร้องเรียนว่าสอนเด็กไม่เต็มที่ สามารถนำเรื่องนี้มาพิจารณาความผิดจรรยาบรรณในที่ประชุม กมว.ได้เลย หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เสื่อมเสียต่อวิชาชีพ และภาพลักษณ์ หรือหากพบครูเล่นไลน์ เฟซบุ๊กจีบนักเรียน หรือใช้ภาษาในเชิงชู้สาว ก็สามารถนำไปสู่การพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณได้
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นปัญหาเรื่องสถานศึกษาไม่ดำเนินการตรวจสอบว่าครูมีการต่อใบอนุญาตฯ หรือไม่ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อที่จะแจ้งให้ทางโรงเรียนได้รับทราบ ซึ่งตนก็เข้าใจว่า สพท.อาจจะยังไม่มีระบบในการดำเนินการเรื่องนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ครูที่ใบอนุญาตฯ หมดอายุสามารถดำเนินการสอนต่อได้ ดังนั้น กมว.จึงเห็นว่าควรมีมาตรการดำเนินการกับผู้ที่ไม่ต่อใบอนุญาตฯ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำของค่าต่อใบอนุญาตล่าช้า ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดราคาเพดานขั้นสูงของค่าต่อใบอนุญาตล่าช้าและค่าดำเนินการให้ชัดเจนต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561