บอร์ด กอปศ.ถก แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ชี้ ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมีความซ้ำซ้อน ค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ดึง สพฐ.ร่วมวิเคราะห์ข้อมูล จัดกลุ่มโรงเรียน หวังแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (6 พ.ย.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายอยากให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่ทั้งสิ้น ในปี 2561 จำนวน 15,089 แห่ง ซึ่งปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กมีความซับซ้อน เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ และการที่อัตราการเกิดลดลงแต่โรงเรียนยังคงต้องมีอยู่พร้อมกับการแบกรับค่าใช้จ่าย รวมถึงปัญหาค่างบประมาณ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายรถรับส่งที่ต้องนำเด็กไปเรียนร่วมกับโรงเรียนในเมือง ซึ่งประเด็นนี้บางครั้งอาจทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนบางครั้งก็ไม่อยากส่งลูกหลานตัวเองไปเรียน ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาเด็กไม่ไปโรงเรียน และเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
ประธาน กอปศ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่กอปศ.มองว่าน่าจะเป็นไปได้แม้โรงเรียนขนาดเล็กจะมีครูน้อย แต่อาจทำให้ครูได้ใกล้ชิดเด็กทำให้คุณภาพการเรียนการสอนทั่วถึง โดยที่เราไม่ต้องมุ่งเน้นการสอนที่เป็นเนื้อหาสาระแต่เน้นการสอนการสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติไปศึกษาข้อมูลการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มเติม เนื่องจากปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมีความหลากหลาย โดยอาจจัดเป็นกลุ่มโรงเรียนในการแก้ปัญหา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับที่จะไปวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะเดียวกันจะมีการจัดทำประชาพิจาณณ์รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมถึงเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สำหรับกระบวนการการแก้ไขปัญหาต้นสังกัด สพฐ.รับจะไปดำเนินการในการหารูปแบบวิธีการการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งธนาคารโลกก็ได้พยายามช่วยหาวิธีการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กร่วมด้วย ทั้งนี้ความความยั่งยืนของการแก้ไขก็คือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพ รวมถึงการสร้างระบบบริหารจัดการที่สนองตอบบริบทของโรงเรียน รวมถึงการจัดกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กแบบดูตามบริบท เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมจะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนขนาดเล็กได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2561