สพฐ.สั่งสแกนนักเรียนจริงในโรงเรียน ย้ำไม่มีเด็กนั่งเรียนจริงต้องส่งเงินอุดหนุนเรียนฟรีฯ คืนส่วนกลาง พร้อมถก ปลัด ศธ.ทำโปรแกรมตรวจสอบตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนเหตุย้ายไปเรียนข้ามสังกัด
วันนี้ (6 พ.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตนได้กำชับให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศทำการสำรวจจำนวนเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่จริงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ซึ่งเปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ส่งข้อมูลมายังสพฐ.ภายในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อ สพฐ.จะได้จัดสรรงบประมาณปี 2561 ที่เหลืออีก 30% ลงไปให้สถานศึกษาโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ให้วางแผนการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ ตามกรอบวงเงินงบฯปี 2562 ที่ได้รับและจะใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ไว้ล่วงหน้า โดยให้ครูมีส่วนร่วมในการวางแผนและนำเข้าคณะกรรมการสถานศึกษาให้ความเห็นชอบ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาตัวเลขนักเรียนซ้ำซ้อน หรือ เด็กผี นั้นเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือกับ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ว่า หากเด็กย้ายไปเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.เช่นเดียวกันจะไม่มีปัญหาตัวเลขซ้ำซ้อน เพราะ สพฐ.มีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ถ้าย้ายไปเรียนโรงเรียนในสังกัดอื่น อื่นแล้วไม่ลาออกจากโรงเรียนเดิม เช่น ไปเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ข้อมูลจะยังค้างอยู่ในโรงเรียนเดิม ดังนั้น โรงเรียนปลายทางที่รับเด็กเข้าเรียนใหม่ควรดูหลักฐานการขอย้ายไปอย่างถูกต้อง ซึ่ง ปลัด ศธ.บอกว่ากำลังเร่งทำโปรแกรมตรวจสอบจำนวนเด็กที่แท้จริงในภาพรวมทั้งระบบคาดว่าจะเสร็จในต้นปี 2562
“อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบไม่มีเด็กเรียนอยู่จริง แม้นักเรียนยังไม่ลาออกก็ไม่ควรนำงบฯไปใช้ โดยเฉพาะงบฯโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ควรสงวนไว้และส่งเงินคืน ซึ่งการจัดสรรงบฯอุดหนุน สพฐ. จะทำ 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 16 พ.ค.ของทุกปี สพฐ.จะรอให้ตัวเลขเด็กนิ่งถึงวันที่ 10 มิ.ย. จากนั้นจะจัดสรรงบฯลงไป 70% ของจำนวนเด็กที่โรงเรียนแจ้งมา และช่วงที่ 2 เมื่อเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.จะรอเช็คข้อมูลอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย. และจัดสรรงบฯที่เหลือ 30% ให้ ทั้งนี้ หากเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ด้วยกัน โรงเรียนใดมีเด็กหายไป ก็จะไม่ได้รับงบฯเต็ม 30% โดยงบฯส่วนที่ขาดจะเพิ่มในโรงเรียนที่รับเด็กคนนั้นไปเรียน”ดร.บุญรักษ์ กล่าวและว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาตัวเลขซ้ำซ้อนทั้งระบบ สพฐ.ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีข่าวว่ามีเด็กผีเกือบ 70,000 คน ซึ่งไม่น่าจะจริง โดยจะสแกนนักเรียนแบบละเอียดว่าแต่ละโรงเรียนมีเด็กเรียนจริงกี่คน มีเด็กค้างในบัญชีไม่มาเรียนกี่คน และเกิดปัญหาอะไรขึ้น จากนั้นจะนำกรณีของจังหวัดชัยภูมิมาเป็นกรณีศึกษาและถือโอกาสแสกนโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อปรับระบบต่อไป
ดร.บุญรักษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาเด็กค้างบัญชีไม่มาลาออกนั้น ถึงแม้ทราบว่าเด็กไม่มาเรียนก็ไม่สามารถคัดชื่อเด็กออกได้เอง ทำได้เพียงไม่จัดสรรงบประมาณให้ ส่วนชื่อเด็กจะค้างไปแบบนั้น ซึ่งสพฐ.กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ว่าจะดำเนินการอะไรได้บ้าง .
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2561