สทศ.ปลื้มโรงเรียน-หน่วยงานการศึกษา นำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้มากขึ้นและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
วันนี้ (5 พ.ย.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ สทศ.ร่วมกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจข้อสอบอัตนัยให้แก่ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ภาคกลาง รุ่นที่ 1 โดยปัจจุบัน สทศ.ได้นำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ โดยเฉพาะผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ไปใช้ประโยชน์มากขึ้นและคุ้มค่า คือ ใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบการศึกษา ระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ถึง 30 % และใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงถึง 20%
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา 30% ใช้ในการประกันคุณภาพภายในและประเมินคุณภาพภายนอก ใช้ในการบริหารการศึกษา โดยมีรายงานผลโอเน็ตให้ผู้บริหารนำไปใช้ยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และ ระดับสถานศึกษา ส่วนระดับชั้นเรียน มีการรายงานผลโอเน็ตให้ครูนำไปปรับปรุงการเรียนการสอน ระดับนักเรียนรายบุคคล ใช้วางแผนและปรับปรุงการเรียน ใช้ในการประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับชาติและเทียบเคียงนานาชาติ ใช้เป็นตัวชี้วัดผลการจัดการศึกษาในระดับกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตามการเจรจาขอคำรับรองปฎิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้มีผลการทดสอบระดับชาติเพิ่มขึ้น 3%
"ในแผนการศึกษาแห่งชาติ 20ปี (พ.ศ.2560-2579) ใน 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์เรื่องการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีตัวชี้วัดที่สำคัญที่ให้โรงเรียนมีจำนวนร้อยละของนักเรียนมีคะแนนโอเน็ตตั้งแต่ 50 % ในแต่ละวิชาเพิ่มขึ้น และยุทธศาสตร์การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางการศึกษา มีตัวชี้วัดที่สำคัญให้ความแตกต่างระหว่างคะแนนเฉลี่ยผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนระหว่างพื้นที่ ภาคการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษใช้ในการวิจัย และการให้รางวัล ตลอดจนวัตถุประสงค์อื่น ๆ"รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561