16 มหา’ลัยกลุ่มเก่ามีแนวโน้มผลิตครูหลักสูตร 4 ปี รอฟังศธ. ก่อนดำเนินการต่อ ส่วนผลวิจัยครุศาสตร์ จุฬา ฯ คุณภาพหลักสูตร4 หรือ 5ปี ไม่แตกต่างกัน
วันนี้(2 พ.ย.)รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ ทางมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าจำนวน 16 แห่ง จะมีการหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรการผลิตครูว่าควรจะเป็น 4 ปี หรือ 5 ปี เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานก็เสนอผลวิจัยออกมาทั้งที่เห็นด้วยกันและไม่เห็นด้วยกับหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ดังนั้นมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าจะนำข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร และจากที่ฟังทางกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ระบุว่าหลักสูตรผลิตครู 4 ปี และ 5 ปีไม่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้ปกครองบ่นว่าการเรียนหลักสูตร5 ปีทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากๆ เบื้องต้นแนวโน้มมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าน่าจะใช้หลักสูตร 4 ปี และหลังจากที่ฟังนโยบายการจัดหลักสูตรผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ ซึ่งเน้นหลักสูตรผลิตครู 4 ปี จากศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ แล้วมหาวิทยาลัยกลุ่มเก่าจะนำมาเป็นข้อมูลก่อนจะดำเนินการต่อไป
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวต่อไปว่า จากผลการวิจัยการเปรียบเทียบหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4ปีและ5 ปี ของ ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาองค์ประกอบคุณลักษณะของอาจารย์ นิสิตครู ปัจจัยด้านทรัพยากร การสอนของอาจารย์ ลักษณะการเรียนของนิสิตครู การเตรียมสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน และคุณภาพของนิสิตครูในหลักสูตร 4 ปี และ5ปี พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน แต่เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลขณะนั้นที่จะให้เป็นหลักสูตร 5ปี โดยให้เพิ่มเกี่ยวกับความรู้ทางวิชาการของนิสิตครูให้มีความแม่นยำและลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งมีการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเพิ่มขึ้นทางมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับนโยบายหลักสูตร 5 ปี
“ขณะที่นโยบายหลักสูตร 5 ปี ที่กำหนดเน้นให้นิสิตครูเรียนเนื้อหาวิชาการในคณะที่เปิดสอนโดยตรง และเพิ่มการฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็น 1 ปีการศึกษานั้นพบว่าในทางปฏิบัติจริง เนื้อหาวิชาการบางสาขาวิชาไม่สามารถเรียนกับคณะที่เปิดสอนโดยตรง และมีการเรียนวิชาครูเพิ่มเติมอีก “ รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561