แจงงานขับเคลื่อนบูรณาการการศึกษาภาค หวังผลใหญ่เกิดภาพการศึกษาตามความต้องการของพื้นที่ เลิกระบบสั่งการแบบท็อปดาวน์
วันนี้(1 พ.ย.)ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคใต้) ที่จังหวัดสตูล ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนงานบูรณาการด้านการศึกษา ซึ่งจะเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1 การขับเคลื่อนแผนการบูรณาการการศึกษาระดับภาค ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดภาพการทำงานด้านการศึกษาที่เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ ตอบสนองบริบทที่แตกต่างกัน โดยเป็นการขับเคลื่อนในเชิงคุณภาพตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)กำหนดไว้ 2 การทำงานเรื่องการพัฒนาหลักสูตรที่จะมีความเชื่อมโยงตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพราะเดิมต่างคนต่างทำ แต่วันนี้นโยบายรัฐบาลต้องการให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยให้โจทย์ไปแล้วว่าจะต้อง คิด ค้น และหา หลักสูตรที่สามารทำได้ในเบื้องต้นเพื่อเป็นต้นแบบแนวทาง ซึ่งทราบว่าหลายจังหวัดสามารถทำได้ดี เพราะโรงเรียนให้ความสนใจและมีความเข้มแข็ง และ 3 เรื่องพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่มีอยู่ 3 หมื่นกว่าโรง แต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมาเราจะทำงานเชิงท็อปดาวน์ สั่งการจากบนลงล่างก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ดังนั้นในการประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษาที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมาดำเนินการใน 6 ภาค
ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.) สพฐ.กล่าวว่า การเริ่มพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะเริ่มจากการเลือกพื้นที่ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการจัดการเรียนการสอน โดยทดลองทำส่วนเล็ก ๆ ก่อน เมื่อประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อ โดยพื้นที่การจัดนวัตกรรมการศึกษาจะมีหลัก ๆ อยู่ 2 ประเภท คือ 1.นวัตกรรมเชิงนโยบายคือ ส่วนกลางพยายามปลดล็อค หรือ ให้อิสระ โดยมีการแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการจัดการหรือดำเนินงานของโรงเรียนทั้งการบริหารงานบุคคล งบประมาณ หรือเรื่องอื่น ๆ 2.นวัตกรรมเชิงการจัดการเรียนการสอน หรือการบริหารโรงเรียน ซึ่งพื้นที่ต่าง ๆ มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ได้ แต่เมื่อเป็นพื้นที่นวัตกรรมสามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีความพร้อมได้ อย่างไรก็ตามเรื่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้บริหารต้องมีใจและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ครูก็พร้อมที่จะปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้าไปช่วยในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
“สำหรับโรงเรียนที่จะมาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดนำร่องทั้ง 6 ภาคนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพื้นที่ ซึ่งอาจจะเสนอมาไม่เท่ากัน เช่น ภาคใต้ จังหวัดสตูลเลือกมา 10 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ 50 โรงเรียน ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 50 โรงเรียน ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 10 ของโรงเรียนในพื้นที่ ส่วนภาคใต้ชายแดน จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทำพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด”ผอ.สนก.กล่าวและว่า ผลลัพธ์ของพื้นที่นวัตกรรม คือ การเกิดการเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเด็กจะมีทักษะในศตวรรษที่21 สามารถตอบโจทย์การเป็นเด็กตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้ เกิดโรงเรียนที่มีความเข้มแข็งและอาสาที่จะช่วยเหลือโรงเรียนอื่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน และ เกิดต้นแบบการทำพื้นที่นวัตกรรมตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561