เลขาธิการ สกสค. รับเป็นเจ้าภาพคิดมาตรการป้องกัน-กำกับหนี้สินครูฯ เล็งออกประกาศ ศธ.ฉบับใหม่ ปรับอัตราเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ ใช้บังคับผู้บังคับบัญชา ดูเงินเดือนลูกน้องก่อนเปิดทางให้ก่อหนี้ใหม่
วันนี้ (29 ต.ค.) นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เสนอต่อบอร์ด สกสค. ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ.เป็นประธาน ว่า ที่ผ่านมาไม่มีมาตรการป้องกันและกำกับหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ชัดเจน อีกทั้งระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551กำหนดว่า ตั้งแต่ปี 2555 การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขณะที่ ประกาศคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู พ.ศ.2550 กำหนดว่า ผู้กู้ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นการกำหนดไว้ไม่ตรงกัน ดังนั้น สกสค.ซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จึงขอเป็นเจ้าภาพในการคำนวณว่า ในการก่อหนี้ใหม่ของข้าราชการครูฯนั้น ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าเท่าไหร่จึงจะสามารถก่อหนี้ใหม่ได้
“ผมตั้งเป้าไว้ว่า ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้ จะเสนอมาตรการป้องกันและกำกับหนี้สินครูฯดังกล่าว ต่อที่ประชุม สกสค.ได้ ซึ่งครั้งนี้จะออกเป็นประกาศ ศธ. ใช้บังคับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นทุกสังกัด ในการลงนามรับรองผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยื่นกู้ เพราะเราไม่สามารถบังคับธนาคาร และ สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ให้ปล่อยกู้ได้ แต่เราสามารถบังคับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่จะลงนามรับรองได้ ถ้าหากผู้บังคับบัญชารับรอง ทั้งๆที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีเงินไม่เพียงพอ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเท่าไหร่จึงจะยื่นกู้ใหม่ได้นั้น ต้องมาคำนวณใหม่โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ด้วย”นายอรรถพลกล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2561