บอร์ด ก.ค.ศ.เห็นชอบหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และ ผอ.วิทยาลัย ปรับคุณสมบัติใหม่ให้ยืดหยุ่น ต้องสอบผ่านเกณฑ์ 60% สพฐ.ยังมีสอบข้อเขียน ชี้เปิดกว้างต้องคัดกรอง ส่วน สอศ.ไม่สอบข้อเขียน
วันนี้ (25 ต.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยในส่วนของการคัดเลือก ผอ.สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ปรับเพิ่มคุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือกไม่ให้แข็งตัว เพื่อให้คนที่เคยมีสิทธิสอบผู้อำนวยการสถานศึกษาไม่ต้องเสียสิทธิ เช่น จากเดิมกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือกว่า “ต้องเป็น” เปลี่ยนเป็น “เคยเป็น” รองผู้อำนวยการสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สพท. เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ ตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ หรือ ดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการคัดเลือก ประกอบด้วย 3 ภาค คือ ภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ ใช้วิธีการสอบข้อเขียน ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ ใช้วิธีการประเมิน และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ โดยต้องได้คะแนนภาค ก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะมีสิทธิสอบภาค ข และ ค ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนการสอบแต่ละภาค ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 และ คะแนนรวมทั้ง 3 ภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทั้งนี้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะเป็นผู้ออกข้อสอบ กำหนดตัวชี้วัด และพิจารณาการขึ้นบัญชี ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของ สอศ.จะใช้วิธีการประเมินภาค ก โดยไม่ใช้การสอบข้อเขียน ซึ่งทาง สอศ.ให้เหตุผลว่า วิธีบริหารของ สอศ. ต่างกับสพฐ. มีบุคลากรไม่มาก จึงสามารถประเมินได้โดยไม่ต้องสอบข้อเขียน
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. จะกำหนดปฏิทินการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งต้องไปดูทั้งระบบให้ต่อเนื่องกับการย้าย เพื่อไม่ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ยื่นย้ายในรอบแรกเสียสิทธิการย้าย โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาว่างอยู่ประมาณ 6,000 กว่าตำแหน่ง คาดว่าจะมีคนเข้ารับการคัดเลือกประมาณ 10,000-20,000 คน สาเหตุที่ต้องมีการสอบข้อเขียน เนื่องจากเราเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นเข้าร่วมด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการกลั่นกรอง คนที่เข้าสู่ตำแหน่งควรรู้เรื่องกฎหมายและการบริหาร ถึงแม้จะอ่านมาจากตำรา เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ตำแหน่งให้มากขึ้น ส่วนของ สอศ.ที่ไม่มีการสอบข้อเขียน เพราะส่วนใหญ่เป็นการคัดเลือกมาจากรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งมีประสบการณ์บริหารอยู่แล้ว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561