สพฐ.หนุนนโยบายรัฐ การนำกีฬาเข้าระบบการศึกษา เน้นทักษะการออกกำลังกาย พร้อมเปิดให้ปชช.ใช้สนามกีฬาโรงเรียน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้หารือถึงการนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการส่งเสริมการเรียนการสอนกีฬา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดทำหลักสูตรคีตะมวยไทย สอนนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6 ซึ่งหลักสูตรนี้ เน้นเรื่องทักษะการออกกำลังกาย โดยใช้ท่ามวยไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ จะมีการสอนกีฬายิมนาสติก ที่เน้นการยืดหยุ่นร่างกาย และสอนว่ายน้ำ ให้นักเรียนรู้จัดการลอยตัวในน้ำ ทั้งนี้ สพฐ.จะหารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจัดทำหลักสูตรต่างๆและนำไปใช้ในปีการศึกษา 2562 เพื่อใช้เป็นวิชาเลือก วิชาเพิ่มเติม หรือ เป็นชมรม ทั้งนี้ โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโรงเรียน
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศธ.จะส่งเสริมการเล่นกีฬาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเปิดพื้นที่ของสถานศึกษาเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้สนามกีฬาของโรงเรียน ซึ่งขณะนี้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กำลังสำรวจสถานศึกษาทุกสังกัดใน ศธ.ว่า มีสถานศึกษาแห่งใดบ้าง ที่พร้อมให้ประชาชนเข้าใช้บริการ สำหรับในส่วนของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.คาดว่าในเดือนพฤศจิกายน นี้ จะติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียนที่พร้อม เพื่อเชิญชวนประชาชนให้เข้ามาใช้สนามกีฬาได้ ซึ่งนอกจากสนับสนุนสถานที่แล้ว สพฐ.จะสนับสนุนอุปกรณ์การเล่นกีฬาให้ประชาชนด้วย ขณะเดียวกัน จะมีโครงการรับโค้ชจิตอาสา หรือ ผู้นำกีฬาชุมชน โดยเชิญชวนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาเป็นโค้ชจิตอาสา สอนประชาชนในช่วงที่มาเล่นกีฬาในสถานศึกษาด้วย
“แนวทางนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น และยังให้ประชาชนเข้ามาใช้สนามกีฬาของโรงเรียนได้ ก็จะทำให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างเล่นกีฬาทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือก้าวไปสู้การเป็นนักกีฬาอาชีพ และยังช่วยให้ห่างไกลยาเสพติดได้ด้วย” นายบุญรักษ์ กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า เร็วๆนี้ ศธ.จะจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ เรียกว่า สพฐ.เกมส์ และจะเปิดโอกาสให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ โรงเรียนในสังกัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เข้ามาร่วมการแข่งขันด้วย โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น คือ ระดับประถมศึกษา อายุไม่เกิน 12 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อายุไม่เกิน 15 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุไม่เกิน 18 ปี เพื่อแข่งขันใน 7 ประเภทกีฬา ประกอบด้วย ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, เซปักตะกร้อ, ฟุตซอล, บาสเก็ตบอล, วิ่ง 31 ขา และคีตะมวยไทย และจะเริ่มมีการจัดการแข่งขันตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษาฯ จากนั้นเป็นระดับภูมิภาค เพื่อหาตัวแทนทั้ง 6 ภาค เพื่อมาเข้าแข่งขันระดับชาติ ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันกีฬาแห่งชาติ ส่วนจะเริ่มการแข่งขันระดับเขตฯเมื่อไหร่นั้น อยู่ระหว่างเสนอแผน เพื่อขอความเห็นชอบจาก ศธ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก แนวหน้า วันอังคาร ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561