23ต.ค.61-“เลขาฯ กกอ.” เตรียมเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งมาหารือร่วมกัน กรณีปรับหลักสูตร 5 ปี มาเป็น 4 ปี ที่ยังขาดการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดมศึกษาที่ต้องใช้เวลา ทำให้หลักสูตร4ปี เข้าระบบTCAS ปี62ไม่ทันแน่
นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปรับลดการเรียนหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 5 ปี มาเป็น 4 ปีโดยเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2562 นั้น ว่า ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้จะมีการเชิญตัวแทนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาประชุมร่วมกับนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อหารือและรับฟังนโยบาย แต่ภายในสัปดาห์นี้ตนจะเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง มาหารือร่วมกันโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี เพื่อที่จะมาร่วมให้ข้อเสนอแนะ เนื่องจากปัจจุบันเราใช้หลักสูตร 5 ปี คือ เรียน 4 ปีและปฏิบัติการสอน 1 ปี ขณะที่หลักสูตร 4 ปียังไม่ได้มีการดำเนินการ จึงอยากให้มาคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูล เปรียบเทียบให้เห็นว่าหลักสูตร 5 ปีจบมามีสมรรถนะอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง แล้วถ้าเรียน 4 ปีที่วางแนวทางไว้เป็นเช่นไร โครงสร้างวิชาและเรียนจบมาก็ต้องไม่ต่างกัน
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการจัดทำหลักสูตร 4 ปีนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ที่สำคัญคือการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.) ซึ่งหลักสูตร 5 ปีมีการทำ มคอ. 1 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตนจึงได้เสนอ รมช.ศธ. เบื้องต้นว่าสิ่งที่ต้องทำ คือ มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรโดยนำหลักสูตร 5 ปีมาเป็นแนวทางการพัฒนาหลักสูตร 4 ปีคู่ขนานไป กับการยกร่าง มคอ.ซึ่งตามกระบวนการเมื่อยกร่างเสร็จต้องนำไปนำไปประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น 4 ภูมิภาคซึ่งกว่าจะสิ้นสุดใช้เวลาประมาณกลางเดือนธันวาคม จากนั้นนำผลการประชาพิจารณ์มาทบทวนและปรับปรุง แก้ไขให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ประมาณเดือนมกราคม 2562 และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ กกอ.อนุมัติและรอการประกาศราชกิจจานุเบกษานั้น มหาวิทยาลัยก็ต้องนำร่างหลักสูตร 4 ปีเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาและให้การอนุมัติ เพื่อให้รองรับระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถานบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2562 รอบ 2 รอบ 3 รอบ 4 และรอบ 5 ทั้งนี้ หากการหารือร่วมกันเรียบร้อย จะสามารถตั้งคณะกรรมการฯ ยกร่าง มคอ.ซึ่งหากมีมหาวิทยาลัยใดพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ยกร่าง หรือเป็นผู้ดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็น สกอ.ก็ยินดี แต่หากไม่มี สกอ.ก็จะดำเนินการเอง
“ในสายตาผมมองว่าหลักสูตร 4 ปีคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันในช่วง TCAS รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผล (Portforlio) แน่นอน ส่วนกรณีที่คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มีมติตรงกันว่าควรจัดการเรียนการสอนหลักสูตร 5 ปีนั้น เรื่องนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งการทำงานมีหลายวิธีส่วนตัวผมมองว่าใครสนใจอะไรก็เลือกอย่างนั้น อนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ส่วนคนที่ตรงไปตรงมาก็เห็นควรมีที่สุดเพียงอันเดียว แต่สุดท้ายเรื่องนี้เป็นอำนาจของ กกอ.” เลขาฯ กกอ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561