ให้ครูจดบันทึกภาระงานใช้แนบขอวิทยฐานะได้ ส่วนระบบ logbook เขียนบันทึกออนไลน์ พบครูยังไม่ถนัด สร้างความทุกข์ใจแก่ครูมาก เน้นให้ครูรุ่นใหม่ที่ถนัดพิมพ์ไว้ใช้ในอนาคต
วันนี้(15 ต.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับ ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เรื่องแบบคำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตำแหน่งครู ซึ่งกำหนดให้ครูต้องบันทึกประวัติการปฏิบัติงาน ลงในโปรแกรม logbook ของ ก.ค.ศ. ซึ่งการให้ครูไปนั่งพิมพ์ข้อมูลภาระงานที่ทำในแต่ละวัน หรือแต่ละอาทิตย์ ลงในระบบออนไลน์แล้วเก็บข้อมูลไว้เพื่อนำมาใช้ในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ได้สร้างความทุกข์ใจให้แก่ครูมาก
“ถึงแม้โปรแกรมจะมีความทันสมัย แต่ก็ยังไม่ตรงกับลักษณะการทำงานปกติของครู เพราะธรรมชาติของครูจะถนัดเขียนมากกว่า ไม่ค่อยเก่งเรื่องดิจิทัล การให้ครูนั่งพิมพ์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์เองทุกวันครูก็เสียเวลา ผมจึงได้ขอให้ ก.ค.ศ.เปลี่ยน เป็นการจดบันทึกภาระงานไว้ และเมื่อถึงเวลาที่จะขอผลงาน ก็ให้ผอ.โรงเรียนเซ็นรับรองแล้วนำมาใช้เป็นเอกสารหลักฐานส่งมาให้ ก.ค.ศ.ได้ ซึ่งเลขาธิการ ก.ค.ศ.ก็เข้าใจและให้ดำเนินการตามที่เสนอได้ ส่วนอนาคตครูรุ่นใหม่อาจถนัดพิมพ์ก็ค่อยปรับเปลี่ยนได้”เลขาธิการกพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้การประเมินอยู่บนความเชื่อใจ หาก ก.ค.ศ.สุ่มตรวจแล้วพบว่า มีการรายงานเท็จครูและผอ.โรงเรียนที่ให้การรับรองก็จะถูกดิสเครดิตในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ครูปฐมวัยก็มีความวิตกกังวลเรื่องการกำหนดชั่วโมงการปฏิบัติงาน ซึ่งมีคนมองว่าครูปฐมวัยทำหน้าที่แค่ 6 ชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงต้องดูแลเด็กวันละ 7 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเข้าโรงเรียน ช่วงที่เด็กนอนครูก็ต้องเตรียมการสอนซึ่งต้องนับชั่วโมงให้ครูด้วย ไม่ใช่นับชั่วโมงเฉพาะเด็กลืมตาอย่างเดียว ดังนั้นครูปฐมวัยไม่ต้องวิตกกังวลว่าชั่วโมงการสอนจะไม่ครบ และกรณีครูที่อยู่ในโรงเรียนเกินเกณฑ์ ถ้าเอาจำนวนชั่วโมงแต่ละชั้นมาคิดแล้วเอาครูไปหารจำนวนชั่วโมงจะไม่ถึงหลักเกณฑ์ในการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.เคยมีแนวทางไปแล้วว่า ถ้าจำนวนชั่วโมงครูน้อยอาจไปเป็นผู้ช่วยครูสอน หรือ ไปสอนพิเศษให้กลุ่มสนใจ และนับเป็นชั่วโมงก็ได้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2561