กลุ่มโรงเรียนสาธิตสังกัด สกอ. ชี้ เป็นเรื่องใหญ่ยังไม่มีข้อสรุปร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ยกเลิกสอบเข้าป.1 แนะ ควรจี้กวาดล้างโรงเรียนกวดวิชาดีกว่า
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ผศ.ทินกร บัวพลู ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ โรงเรียนสาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) 21แห่งได้หารือกันเกี่ยวกับเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีสาระสำคัญคือการยกเลิกการสอบเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณานั้น ที่ประชุมโรงเรียนสาธิตทั้ง 21 แห่ง ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าคงต้องคุยกันอีกหลายครั้ง เพราะเป็นเรื่องใหญ่
ผศ.ทินกร กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน โดยมีแนวคิดให้การคัดเลือกอาจจะเป็นแบบผสมผสาน ส่วนจะเป็นอย่างไรต้องมาช่วยกันคิด เพราะต่างคนต่างทำไม่ได้ โดยเฉพาะ 3โรงเรียนสาธิตที่มีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนมากต้องมาตกลงกันว่าจะใช้วิธีไหน ซึ่งจะต้องไม่แตกต่างกันมากนัก และต้องดูว่าโรงเรียนสาธิตจะตอบสนองสังคมได้อย่างไรและเป็นที่ยอมรับได้
ผศ.ทินกร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2562 ทางร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมยังคงจัดสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1เหมือนเดิม เพราะโรงเรียนได้มีการเตรียมการล่วงหน้าในสอบคัดเลือกไว้อย่างน้อย 6เดือน ถ้าโรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องค่อยคิด ค่อยวางแผน เพราะไม่ใช่ว่าโรงเรียนคิดอยากจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรได้เลย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้ปกครองและระบบของโรงเรียนด้วย
“โรงเรียนไม่มีทางเลือก ซึ่งจริงๆก็ไม่อยากจะสอบ เพราะการสอบแต่ละครั้งเครียด ทุกอย่างต้องเป็นความลับ ทำอย่างรวดเร็ว เร่ง และทำประณีต เพื่อไม่ให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ตรวจสอบได้ โปร่งใส แต่อย่างไรก็ตามการห้ามสอบนั้นผมว่าจริง ๆแล้วเราเกาไม่ถูกที่คันหรือไม่ เพราะสาเหตุมาจากโรงเรียนกวดวิชาหรือติวเตอร์ ทำไมไม่กวาดล้าง รวมถึงครูที่เบียดบังประโยชน์กับเด็ก ขูดเลือดขูดเนื้อเอากับผู้ปกครอง แล้วทำไมกฎหมายรัฐไม่ไปปราบปรามหรือเก็บภาษีแต่กลับมาบีบโรงเรียนแทน" ผศ.ทินกร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561