กสศ.เตรียมหนุนค่าอาหารเช้า-ค่าเดินทาง-ค่าใช้จ่ายเสริมโอกาส ให้เด็กยากจนพิเศษ 6 แสนคน เริ่ม ธ.ค.นี้ พร้อมจับมือ สพฐ. ตรวจสอบรายชื่อเด็กยากจนพิเศษ 6แสนคน
วันนี้ (1ต.ค.) นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ กสศ.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตรวจสอบข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้น ม.1- ม.3 ประมาณ 6 แสนคน ที่ผ่านการคัดกรองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2561ซึ่งมีการบันทึกหลักฐานเชิงประจักษ์รายบุคคลไว้อย่างละเอียดเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะความยากจน เช่น ข้อมูลเลข 13 หลักของนักเรียนและผู้ปกครอง ข้อมูลรายได้ การถือครองทรัพย์สิน รูปถ่ายสภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวพร้อมพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GIS) ของนักเรียน เพื่อปรับปรุงบัญชีรายชื่อ ก่อนที่จะจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้
“นักเรียนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด โดยสมาชิกครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณคนละ 1,281 บาทต่อเดือน หรือ เฉลี่ยวันละ 42.7 บาท ซึ่งการสุ่มตัวอย่างนักเรียนยากจนพิเศษ จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ต้องเผชิญหลายปัญหารุมเร้า โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นเด็กที่ครอบครัวแยกทางกัน บุคคลในครอบครัวมีประวัติติดยาเสพติด ที่สำคัญส่วนใหญ่แทบไม่เคยได้ทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน เด็กจำนวนมากต้องใช้เวลาเดินมาเรียนเองกว่า 30-60 นาทีทุกวัน ส่งผลให้มีภาวะทุพโภชนาการ เจ็บป่วยบ่อยทำให้ขาดเรียนเป็นประจำ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา” รักษาการผู้จัดการ กสศ.กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้น กสศ.จะเติมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทา ใน 3 ประเด็น คือ ค่าอาหารเช้า ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนจะจัดดูแลนักเรียนเพื่อส่งเสริมโอกาสการศึกษา ทั้งนี้ กสศ. จะเปิดรับสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” เพื่อสำรวจและติดตามความต้องการและความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การมาเรียน ผลการเรียน ศักยภาพความถนัด ความต้องการพิเศษ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ กสศ. และ สพฐ. สามารถสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. เป็นการเติมให้อย่างเท่าเทียมทุกกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่เด็กนักเรียน แต่ละคนมีต้นทุนแตกต่างกัน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทันท่วงที ดังนั้นการ สนับสนุนของ กสศ. ทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุน องค์ความรู้ งานวิจัย และระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้ ดังนั้น มั่นใจว่าความร่วมมือในโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” จะทำให้ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561