เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ ข่าวที่ 360/2561 ผลการประชุม ก.ค.ศ. 11/2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 11/2561 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้
- เห็นชอบการย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จำนวน 10 ราย ดังนี้
1) นายอาดุลย์ พรมแสง ผอ.สพป.สงขลา เขต 3 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 2
2) นายณรงค์ ศรีละมุล ผอ.สพป.สตูล ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 3
3) นายนิพัฒน์ มณี ผอ.สพป.นราธิวาส เขต 3 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 4
4) นายนพพร มากคงแก้ว ผอ.สพป.สงขลา เขต 1 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.กำแพงเพชร เขต 2
5) นายมนูญ จันทร์สุข ผอ.สพป.ยะลา เขต 3 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.ระนอง
6) นายประหยัด สุขขี ผอ.สพป.นราธิวาส เขต 1 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ. สพป.ราชบุรี เขต 2
7) นายนิตย์ พรหมประสิทธิ์ ผอ.สพป.สตูล ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.สุพรรณบุรี เขต 2
8) นายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ สพป.สงขลา เขต 1 ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.สงขลา เขต 1
9) นายอรรถสิทธิ์ รัตนแคล้ว ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ สพป.พังงา ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.พังงา
10) นายธวัช แซ่ฮ่ำ ผอ.สพม.เขต 15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพม. เขต 5 (สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง)
- เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ตำแหน่งครูผู้ช่วย พร้อมทั้งรายละเอียดแนบท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการฯ โดยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1) ให้สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มให้กับครูผู้ช่วยเป็นเวลา 2 ปี ในสถานศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง นับตั้งแต่วันที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู
2) กรณีครูผู้ช่วยที่ลาคลอดบุตร ลาป่วย ลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล สามารถนับวันลาดังกล่าว รวมเป็นระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มได้ไม่เกิน 90 วัน หากลาเกิน 90 วัน ให้เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตามจำนวนวันที่ลาเกินให้ครบ 2 ปี
3) ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม จำนวน 3 คน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นประธานกรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งครูในสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจากภายนอกสถานศึกษา เป็นกรรมการ
4) ให้กรรมการฯ ประเมินเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องทุกหกเดือน รวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี
5) กำหนดให้มีผลการประเมินจากกรรมการทุกคนเฉลี่ยในแต่ละครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ต้องมีคะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ครั้งที่ 2 ต้องมีคะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ครั้งที่ 3 ต้องมีคะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
ครั้งที่ 4 ต้องมีคะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
6) หากครูผู้ช่วยมีผลการประเมินในแต่ละครั้งต่ำกว่าเกณฑ์การประเมินที่ ก.ค.ศ. กำหนด และผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 เห็นว่าควรทบทวนการประเมิน ก็สามารถทำได้ และหากผลการประเมินยังต่ำกว่าเกณฑ์การประเมินที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยไม่สมควรให้รับราชการต่อไป ไม่ว่าจะครบกำหนดการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ดำเนินการสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการต่อไป
- อนุมัติจัดสรรคืนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้กับส่วนราชการต่าง ๆ โดยแบ่งตามสังกัด ดังนี้
1) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สถาบันวิทยาลัยชุมชน) จำนวน 4 อัตรา
2) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 76 อัตรา
3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 3 อัตรา
4) สำนักงาน กศน. จำนวน 138 อัตรา
5) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 941 อัตรา
6) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 23,998 อัตรา
- เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ในศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกนี้ ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ในศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในวาระแรกเท่านั้น
2) ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของหน่วยงานการศึกษา และปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันรับสมัครวันสุดท้าย มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และ มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตรงตามมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
3) ให้ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมิน ตามองค์ประกอบดังนี้
3.1) ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และผลงานที่ประสบความสำเร็จ 40 คะแนน
3.2) แนวคิดในการพัฒนาศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 30 คะแนน
3.3) สัมภาษณ์ 30 คะแนน
4) ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องผ่านการประเมินทุกข้อตามข้อ 3 และได้คะแนนแต่ละข้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยเรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนสูงสุดจากมากไปหาน้อย
5) ผู้ผ่านการคัดเลือกที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี
- เห็นชอบการกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวม 23 แห่ง จำนวน 1,390 อัตรา โดยอนุมัติให้กำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก/ศูนย์ ในสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร รวม 23 สถาบัน เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น
- เห็นชอบ (ร่าง) แบบประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานฯ ในรอบการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ซึ่งจะใช้สำหรับระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบเปอร์เซ็นต์ (อ่านเพิ่มเติมที่ข่าว 359/2561)
Written by ดรุวรรณ บุญมาก
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 27 กันยายน 2561