เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ 358/2561 "รมว.ศธ.มอบนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่" โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย "การประกันคุณภาพการศึกษา" ในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งมอบโล่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ 26 กันยายน 2561 ณ โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม โดยมีนายภิญโญ ประกอบผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังนโยบาย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า แต่เดิมกระทรวงศึกษาธิการใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบเก่าที่ดำเนินการมานานกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการประเมินที่มีแต่กระดาษ โดยไม่ได้สะท้อนผลการจัดการศึกษาที่แท้จริง และไม่ได้ช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น อีกทั้งเมื่อไม่มีการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) มาเป็นเวลากว่า 4 ปี ก็ไม่ได้ทำให้การจัดการศึกษาแย่ลง
ดังนั้น ก่อนอื่นเราจึงต้องทำความเข้าใจนิยามของคุณภาพทางการศึกษาก่อน ว่า "คุณภาพทางการศึกษา" คือ การที่โรงเรียนสามารถสนับสนุนนักเรียนให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการได้ดีเพียงใดหรือสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ดีหรือไม่ และสุดท้ายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนเป็นอย่างไร ส่วน “การประกันคุณภาพ” คือ กระบวนการในการตรวจสอบว่าคุณภาพเป็นไปตามความคาดหวังที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ โดยมีหน่วยงานภายนอกตรวจสอบดูว่าผลการประเมินเป็นจริงตามนั้นหรือไม่
สำหรับการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ จะเน้นการประเมินที่เป็นรูปธรรมและใช้แนวทางการประเมินตามรูปแบบของโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีบทบาท ดังนี้
- สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. : ทำหน้าที่เป็น Regulator รับรายงานผลการประเมินตนเอง และดำเนินการประเมินร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมทั้งส่งรายงานการประเมินให้ต้นสังกัดและสถานศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาต่อไป
- สพฐ. : สร้างมาตรฐานของสถานศึกษาที่มีคุณภาพ และสนับสนุนการศึกษาให้พร้อมรับการประเมินด้วยการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในมาตรฐานของสถานศึกษาที่มี่คุณภาพ สร้างความเข้าใจวิธีการประเมินแนวใหม่ การเขียนรายงานการประเมินตนเองแบบใหม่ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้ประเมินโรงเรียน โดยให้รายงานข้อมูลตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ ประเมินสถานศึกษาของตนเองว่ามีการจัดการศึกษาอยู่ในมาตรฐานระดับใดในปัจจุบัน, หลักฐานสนับสนุนผลการประเมินตนเอง และเสนอแผนที่จะพัฒนาสถานศึกษาให้ได้มาตรฐานหรืออยู่ในระดับที่ดีขึ้น หากสถานศึกษาอยู่ในระดับดีที่สุดแล้ว ก็ให้เสนอแผนในการรักษามาตรฐานที่ดีนั้นไว้
- โรงเรียน : ทำให้เกิดสถานศึกษาที่มีมาตรฐาน และจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้ สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการประเมินตนเองในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อให้ทราบว่าโรงเรียนในสังกัดต้องประเมินอะไรบ้าง และต้องไม่เพิ่มตัวชี้วัดให้กับโรงเรียน ซึ่งการทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นต้องเริ่มจากการประเมินตนเองที่เข้มข้นและหน่วยงานภายนอกสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การปฏิรูปทุกครั้งต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ยึดหลักธรรมาภิบาล และปฏิบัติตนตามกฎหมาย ซึ่งการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ที่ใช้เอกสารเพียง 2-3 แผ่น จะเปรียบเสมือนเป็นคัมภีร์ในการพัฒนาโรงเรียน
Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 27 กันยายน 2561