เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 โพสต์ทูเดย์ ได้เสนอเนื้อหาเรื่อง "จดหมายถึงครู" ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล. โดยมีเนื้อหา ดังนี้
จดหมายถึงครู
อาชีพครูกำลังถูกท้าทายในยุคDisruption ครูจึงต้องเปลี่ยน เพราะหากไม่เปลี่ยน ไม่ใช่แค่แพ้แต่ถึงกับสูญพันธุ์
********************************
โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.
วันนี้เมื่อกระแสกดดันการศึกษาไทยรุนแรงมากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย และจากที่คนไทยเริ่มรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกในโลกยุค Disruption หรือยุคทำลายล้างเพื่อเกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า จึงกังวลว่าลูกหลานไทยจะสู้ใครไม่ได้ เพราะการศึกษาไทยติดหล่ม ถึงแม้รัฐจะทุ่มเทเต็มกำลังก็ตามที อนาคตไทยก็ยังน่าเป็นห่วง
เมื่อการศึกษาไทยมีปัญหา “ครู” มักกลายเป็นจำเลยของสังคม หรือ “ผิดเป็นครู” บ้างก็ว่าครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว แต่ปัญหาครูก็เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ในหลายปัจจัยของวงการศึกษาไทย การที่ครูมักต้องเป็นแพะรับบาปร่ำไป ผมจึงรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม เพราะตัวผมก็เป็นครู พ่อแม่ของผมก็เป็นครู เรียนมาตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาเอก มีวันนี้ได้ก็เพราะมีครู จึงขอเถียงเลยว่าครูต้องดี แต่...วันนั้นกับวันนี้อาจต่างกันและโลกในวันหน้าก็ยิ่งต่างกันสิ้นเชิง
ครูในอนาคตจะเป็นอาชีพที่ถูกท้าทายมากที่สุด ในยุคที่เด็ก I don’t care คือ ไม่สนว่าเรียนแล้วได้อะไร ไม่เชื่อว่าหลักสูตรตอบโจทย์ชีวิต ผนวกกับยุคนายจ้าง I don’t care เหมือนกัน คือ ไม่สนว่าคุณเรียนจบแล้วได้ปริญญาอะไรมา หรือจะจบมหาวิทยาลัยดังแค่ไหนก็ตาม หากทำงานไม่ได้ ไม่ดี ฉันก็ไม่สน ไม่จ้าง
ครูจึงต้อง “เปลี่ยน” เพราะหากไม่เปลี่ยน ไม่ใช่แค่ “แพ้” แต่ถึงกับ “สูญพันธุ์” ดังนั้น ครูยุค Disruption ควรต้อง
1.สอนเด็กให้ทำงานได้ ทำงานเป็นมีความเชี่ยวชาญจริง ไม่ใช่สอนเพื่อไปสอบ เพื่อไปได้ปริญญา เพราะใบปริญญากำลังจะหมดความนิยม 2.สอนเพื่อตอบโจทย์โลกแห่งความเป็นจริง (Real World) ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่สอนตามหนังสือตามแบบฝึกหัด
3.ยอมปรับตัวแรงและเร็ว ไม่มีทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะในโลกดิจิทัลหนึ่งนาทีก็ช้าไปแล้ว
4.มีความ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” เด็กผู้เรียนอย่างแท้จริง สื่อสารได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ลืมของเดิมไปเลย
5.ไม่หลบหลีกเทคโนโลยีชั้นสูงในการเรียนการสอน ควรรู้ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ การใช้เครื่องมือใหม่ๆ อีกทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาเต็มรูปแบบ
6.พบเจอกับการประเมินรายบุคคล ทั้งจากเด็กและการจัดอันดับการสอนแบบทันที (Real Time) ด้วยบิ๊กดาต้าและบล็อกเชนเป็นยุคที่ทำดีก็ได้ดีเร็ว ทำเสียก็ไปเร็วเช่นกัน
7.คิดหลักสูตรเองและเครื่องมือเรียนรู้เองได้ สร้างสรรค์ความแตกต่างแบบไม่ซ้ำใคร
9.มีจิตวิญญาณความเป็น “ครู” ยังไงก็ยังสำคัญที่สุด
จึงขอให้กำลังใจให้ผู้ที่จะเป็น “ครูมืออาชีพ” ขณะที่การเป็นครูยิ่งยากมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นหน้าที่ของรัฐและสังคมไทย ที่จะต้องดูแลครูให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน สวัสดิการ แต่ต้องเป็นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาอาชีพครู ถึงจะเป็นธรรม ไม่ใช่คาดหวังสูง แต่ไม่เหลียวแล คงไม่แฟร์สำหรับครู และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเช่นกัน เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องยากมาก
ผมจึงขอส่งจดหมายถึงครูไทยทุกคนว่า คนไทยเรายังรักครูครับ สู้สู้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 กันยายน 2561