สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมพิจารณายกเลิกให้ครูบรรจุใหม่ไปสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนเรื่องการออกข้อสอบบรรจุที่อาจส่วนทำให้ครูเอกประถมศึกษาขาดแคลน และไม่ควรให้ครูที่จบไม่ตรงเอกมาสอนเด็กกลุ่มนี้
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์สาขาวิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ PPTV ว่า การให้ครูที่เรียนจบไม่ตรงสาขาวิชาประถมศึกษา มาสอนเด็กนักเรียนชั้นประถม เป็นปัญหาเรื้อรังที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก เด็กชั้น ป.1 – ป.6 จะต้องใช้สมองส่วนพัฒนาการทางอารมณ์ การเข้าสังคม มากกว่าความรู้ทางวิชาการที่ครูเอกทั่วไปมีความถนัด จนทำให้กระทบระบบการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นของช่วงอายุเด็ก
สำหรับความแตกต่างของการเรียนคณะครุศาสตร์ ผู้ที่ลงเรียนในวิชาเอกทั่วไป เช่นวิทยาศาสตร์ ดนตรี กีฬา จะมีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งความรู้ด้านนี้จะเหมาะกับการสอบบรรจุเป็นครูสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษามากกว่า ส่วนการสอนในระดับประถมศึกษา ควรเป็นบุคคลที่จบเอกการประถมศึกษา เนื่องจากมีหลักสูตรเฉพาะที่เหมาะกับช่วงอายุเด็กในชั้นประถามศึกษา โดยเฉพาะความรู้กลุ่มสาระ SELF CONTAINED CLASSROOM ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ จิตวิทยาของเด็กประถม เป็นหลัก
ศ.ดร. สมพงษ์ มองว่า ปัจจุบันข้อสอบบรรจุครู ที่ออกมาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูจบไม่ตรงสายถูกจัดหน้าที่ให้ไปสอนเด็กประถม เพราะ เนื้อหาข้อสอบเน้นวิชาการเกี่ยวกับเอกเฉพาะมากกว่าวิชาพัฒนาการเรียน การสอนระดับประถม ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนครูประถมตามโรงเรียนรัฐหลายพื้นที่ จนทำให้ครูเอกประถมบางส่วน หันไปสอนโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนกวดวิชา
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกนำครูจบใหม่มาเป็นครูประจำชั้นสอนเด็กชั้นประถมศึกษา แต่จะให้เข้ามาทำงานกับครูที่มีประสบการณ์ก่อน หากผ่านการประเมินถึงจะเลื่อนเป็นครูประจำชั้น ส่วนปัญหาขาดแคลนครู หลังวันที่ 1 ต.ค. 2561 จะมีครูทั่วประเทศเกษียณอายุเกือบ 20,000 คน ขณะนี้เตรียมเรียกบรรจุครูผู้ช่วยเพิ่มอีก 5,000 – 20,000 คน เพื่อแก้ปัญหาแล้วคาดการณ์ว่าเดือนพ.ย.จะมีความชัดเจน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก PPTV HD36 วันที่ 20 ก.ย. 2561