ก้าวสู่ระยะที่ 2 สำหรับโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) หลังจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ 12 บริษัทเอกชนผนึกกำลังขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างเข้มแข็งในระยะที่ 1 โดยในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจาก 21 องค์กรภาคเอกชนชั้นนำเข้าร่วมเสริมทัพส่งผู้นำรุ่นใหม่กว่า1,000 คนพิชิตภารกิจลงพื้นที่โรงเรียนประชารัฐกว่า 4,600 แห่งทั่วประเทศ ด้านบมจ. ซีพี ออลล์ ในฐานะภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งโครงการฯ เป็นอีกบริษัทสร้างผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ที่มีส่วนสร้างความสำเร็จของโรงเรียนประชารัฐในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีบุคลากรพร้อมจะร่วมสานต่อโครงการในระยะที่ 2 อย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรวิทย์ ไชยสุ อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partners รุ่นที่ 1 ของซีพี ออลล์ เล่าว่า ตัวเองเป็นชาวเชียงใหม่ จึงอาสาเข้าร่วมโครงการไปดูแลโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิด และได้รับผิดชอบในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาแบบ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ ผอ.” ให้แก่ 3 โรงเรียน โดย 1 ใน 3 โรงเรียนที่รับผิดชอบ ถือว่าเป็น Best Practice หรือเป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่ดำเนินโครงการแล้วประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลคือ โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) อำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่
โครงการที่ประสบความสำเร็จในโรงเรียนดังกล่าว ได้แก่ 1.โครงการนาข้าววิถีพอเพียง ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติการปลูกข้าวในบริเวณนาข้าวที่อยู่ข้างๆ โรงเรียน พร้อมทั้งดึงคนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วม 2.โครงการ One Class One Product ให้นักเรียนแต่ละห้องนำสิ่งที่ได้รับจากโครงการแรกมาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมผ่านการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM) เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวแต๋นน้ำสมุนไพร, กระดาษจากฟางข้าว, หีบห่อกระดาษฟางข้าว, ข้าวต้มมัดสมุนไพร เป็นต้น จากนั้นก็นำไปขายที่ “กาดหมั้วคัวฮอม” โดยใช่พื้นที่ในโรงเรียนให้นักเรียนได้ทดลองขาย พร้อมทั้งเชิญผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้โครงการได้รับรางวัลในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
“แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือก่อนลงพื้นที่ ระหว่างลงพื้นที่ และหลังลงพื้นที่ และยึดหลัก PDCAคือ 1.Plan หรือ วางแผน 2.Do หรือ ปฏิบัติ 3.Check หรือตรวจสอบ และ 4.Act หรือดำเนินการให้เหมาะสมเพื่อให้การทำงานราบรื่น โครงการออกมาเป็นรูปธรรม ลงมือปฏิบัติได้จริง และที่สำคัญคือโรงเรียนสามารถดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องการศึกษาต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.กรวิทย์ย้ำ
ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะที่ 2 ผศ.ดร.กรวิทย์ จะทำหน้าที่เป็น Coaching หรือผู้ที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาให้กับ School Partners รุ่นใหม่ ควบคู่กับการดูแลโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 2 แห่งใน จ.ลำพูน โดยตั้งใจว่าจะพยายามเชื่อมโยงผู้บริหารและครูของโรงเรียนในทั้ง 2 ระยะเข้าหากัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้านนายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของสังคมชุมชน และประเทศ จึงได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ระยะที่ 1 จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงเดินหน้าเข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 โดยเปิดโอกาสให้พนักงานในกลุ่มบริษัท รวมไปถึงคณาจารย์สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคม ของซีพี ออลล์ เข้าไปทำหน้าที่ผู้นำรุ่นใหม่กว่า 80 คน เพื่อนำองค์ความรู้ ความสามารถไปต่อยอดสร้างสรรค์ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โรงเรียนประชารัฐกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
“ซีพี ออลล์ มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้เรามีบุคลากรและเครือข่ายที่มีความรู้ ความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงสามารถส่งผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เข้าไปช่วยโรงเรียนในการเป็นเพื่อนคู่คิดวางแผนพัฒนาเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ มีทักษะการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน ซึ่งโครงการในระยะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี” นายธานินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้นำรุ่นใหม่ทุกคนล้วนผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้บริหารและครูอย่างเข้มข้น จึงเชื่อมั่นว่า ผู้นำรุ่นใหม่จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โครงการให้ประสบความสำเร็จได้
อีกหนึ่งผู้นำรุ่นใหม่นางศิริพร จันประภา เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจสำนักปฏิบัติการ Re3 บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะ School Partners รุ่นที่ 2 ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น เล่าว่า ที่อาสามาทำงานในโครงการนี้เพราะมีความผูกพันกับบ้านเกิด และเคยเป็นครูมาก่อน จึงเลือกไปพัฒนาการศึกษาโรงเรียนประชารัฐในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองหลวงแพ่ง และโรงเรียนสุเหร่า 20 จากการสำรวจพื้นที่พบว่าทั้ง 2 โรงเรียนอยู่ในพื้นที่กันดาร ห่างไกลตัวเมืองมาก และ ที่สำคัญยังขาดแคลนเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีทันสมัยอีกด้วย
“ส่วนตัวเป็นคนชอบเข้าร่วมกิจกรรมอาสาของบริษัทมาโดยตลอด คาดหวังที่จะเห็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในฐานะที่เคยเป็นครู พอได้มาร่วมโครงการ ความรู้สึกอยากถ่ายทอดประสบการณ์ก็ยิ่งทวีคูณ ล่าสุดได้มีโอกาสไปเยือนทั้ง 2 โรงเรียนที่จะลงไปพัฒนา ก็ได้รับการต้อนรับที่แสนอบอุ่นจากผู้อำนวยการคุณครู และเด็กๆ ที่มองเราเป็นคุณครูอีกหนึ่งคน ความตั้งใจในครั้งนี้เราอยากพัฒนาในเรื่องของการเรียนการสอน ด้านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ โดยเน้นภาษาอังกฤษ อยากให้เขาได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างทั่วถึง ยิ่งในโลกยุคใหม่ เราต้องเท่าทันเหตุการณ์รวมทั้งรวดเร็วและแม่นยำด้วย เพราะใครๆ ก็อยากเห็นการศึกษาไทยก้าวทันโลกอย่างเท่าเทียม” ศิริพร กล่าว
ทั้งหมดถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันยกระดับขีดความสามารถของเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองของเราต่อไป