ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ประเทศของเรามีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่หลายวันด้วยกัน ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะยังสับสนอยู่บ้างว่าวันสำคัญไหนตรงกับวันตามปฏิทินใด และมีความสำคัญอย่างไร...วันนี้ เราได้สรุปรายชื่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาฝากทุก ๆ คนแล้วครับ
1. วันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้าให้แก่พระสงฆ์สาวก จำนวน 1,250 รูปที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระองค์ และมาได้ประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์โดยมิได้นัดหมาย
2. วันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่เพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง
3. วันอัฏฐมีบูชาตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (ปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7) ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หลังจากเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน
4. วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” แก่ปัญจวัคคีย์และทำให้เกิดพระสงฆ์รูปแรกในพระศาสนา
5. วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) เกิดจากการที่สมัยพุทธกาลพระภิกษุออกจาริกโปรดสัตว์ในช่วงฤดูฝน เป็นเหตุให้ต้นกล้าข้าวและพืชอื่น ๆ ของชาวบ้านเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน
6. วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ และยังถือเป็นวันมหาปวารณาซึ่งเป็นวันที่อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
7. วันพระหรือวันธรรมสวนะเกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทรงพบว่าศาสนาอื่นมีการประชุมหลักธรรรมคำสอน พระองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมถือศีลฟังธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยกำหนดเดือนละ 4 วัน คือ วันขึ้น 8ค่ำ, วันขึ้น 15ค่ำ, วันแรม 8ค่ำ และวันแรม 15ค่ำ (หากเดือนใดไม่มีวันแรม 15ค่ำ ให้ถือวันแรม 14ค่ำ เป็นวันพระ)
8. วันโกนคือ วันก่อนวันพระ 1วัน ได้แก่ วันขึ้น 7ค่ำ, วันขึ้น 14ค่ำ, วันแรม 7ค่ำ และวันแรม 14ค่ำ (หากเดือนใดวันแรม 14ค่ำตรงกับวันพระ ให้ถือวันแรม 13ค่ำ เป็นวันโกน)
**คำศัพท์น่ารู้**บางคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้ว “ปีอธิกมาส” คืออะไร ทำไมถึงมีอิทธิพลทำให้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเคลื่อนไปได้ ในส่วนนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่าการนับปฏิทินแบบข้างขึ้นข้างแรม หรือที่เราเรียกว่า “จันทรคติ” นั้นจะแบ่งออกเป็น 12 เดือนตามลักษณะการปรากฏของดวงจันทร์ โดยแบ่งเป็นข้างขึ้น 15 วัน กับข้างแรม 15 วันในเดือนคู่ และข้างขึ้น 15 วัน กับข้างแรม 14 วันในเดือนคี่ ซึ่งจากการนับวันเช่นนี้ส่งผลให้จำนวนวันใน 1 ปีของปฏิทินจันทรคติไม่เท่ากับปฏิทินสุริยคติ (ปฏิทินสากล) ดังนั้นเศษวันที่เหลือในแต่ละปีของปฏิทินจันทรคติจึงถูกนับสะสมทบยอดมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบ 30 วันในปีใด ก็จะกำหนดให้ปีนั้นมีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เดือน เรียกว่า “เดือน 8 หลัง” และปีที่มีเดือน 8 สองหนนี้เองที่เราเรียกว่า “ปีอธิกมาส”