“กสศ.” เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 “พรบ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
เปิดระบบ “iSEE” ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ทุกปีมีเด็กและเยาวชนไทยที่มีศักยภาพต้องสูญเสียโอกาสและออกจากระบบการศึกษาจากปัญหาความยากจน ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงปัญหาการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความถนัดของตนเองไปจำนวนไม่น้อยกว่า 6.7 แสนคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่สูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี
โดย “สุรินทร์” ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ “ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ( iSEE )” ที่ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยได้ค้นพบข้อมูลว่า มีเด็กนักเรียนจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 44.09 ที่มีปัญหาความยากจน และยังเป็นจังหวัดที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีเด็กนักเรียนฐานะยากจนมากที่สุด
ดังนั้นในการ จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของกองทุนฯ ในการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืน จึงได้มีการลงพื้นที่นำเสนอกรณีศึกษาของการนำระบบ iSEE ที่สามารถค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยง พร้อมระบบติดตามช่วยเหลือเยาวชนที่ออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพตามความถนัด
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับสพฐ. จัดทำข้อมูลสถานการณ์นักเรียนยากจนในภาคอีสาน โดยสำรวจจาก ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) พบว่า 10 จังหวัดที่มีนักเรียนยากจนมากที่สุดได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 54.95 ศรีสะเกษ 52.64 มหาสารคาม 49.91 บุรีรัมย์ 49.75 ร้อยเอ็ด 49.72 มุกดาหาร 48.33 อุบลราชธานี 47.28 ยโสธร 45.68 สกลนคร 45.21 และจังหวัดสุรินทร์ร้อยละ 44.09
“กสศ. ยังร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำ ระบบหลักประกันโอกาสทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชนดอยโอกาสนอกระบบการศึกษา (Thai Out Of School Children Information System) สำรวจสถานการณ์เด็กนอกระบบ ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดประกอบไปด้วย จังหวัดสุรินทร์ ชุมพร ตาก สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี และหนองคาย พบว่า มีจำนวนเด็กนอกระบบรวมกันทั้งสิ้น 120,899 คน โดยจังหวัดสุรินทร์มีเด็กและเยาวชนนอกระบบอายุ 12-21 ปี มากที่สุด จำนวน 33,099 คน ซึ่งจากการประมวลผลข้อมูลยังพบว่า 5 ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาคือ 1.ไม่อยากเรียน เบื่อเรียน 2.ไม่มีทุนการศึกษา 3.เรียนไม่ไหว เรียนไม่ทันเพื่อน 4.ครอบครัวยากจนส่ง 5.เคยถูกทารุณกรรม ในขณะที่ 5 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กกลับไปเรียนต่อและไม่หลุดออกนอกระบบ ประกอบไปด้วย 1.ทุนการศึกษา 2.เงินช่วยเหลือ เงินสงเคราะห์ 3.ความเข้าใจ ใส่ใจของครู 4.ค่าเดินทาง 5.เลิกคบเพื่อนไม่ดี”
โดยกรณีศึกษาของจังหวัดสุรินทร์ ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ได้ค้นพบเด็กนักเรียนในระบบ ด.ญ.เกษจรินทร์ ทิศรักษ์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 ของ โรงเรียนบ้านนาเกา อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่มีผลการเรียนดีมากแต่ครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อและแม่พิการไม่สามารถทำงานได้ ต้องอาศัยรายได้จากพี่สาวที่ทำงานเพียงและมีรายได้เพียง 300 บาทต่อวัน ซึ่งไม่ได้รับการดูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสที่จะศึกษาต่อถึงในระดับมัธยมศึกษาตามที่ต้องการได้
ด.ญ.เกษจรินทร์ ทิศรักษ์ เล่าว่า ทุกวันจะตื่นนอนประมาณตี 5 เพื่อเตรียมหุงข้าว ทำกับข้าวและจัดสำหรับอาหารให้พ่อกับแม่ให้เรียบร้อยก่อนแต่งตัวไปโรงเรียน โดยจะมีสตางค์ไปกินขนมที่โรงเรียนวันละ 20 บาท ส่วนใหญ่จะออมไว้กับคุณครู 10 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง บางวันก็ซื้อน้ำทานแค่ 5 บาท ส่วนเคล็ดลับทำให้เรียนดี มีเกรดเฉลี่ยถึง 3.5 คือตั้งใจฟังคุณครูสอนในชั้นเรียน หากไม่เข้าใจจะยกมือสอบถามครูทันที
“หนูชอบอ่านหนังสือ เวลากลับมาจากโรงเรียนแล้วจะมาอ่านทบทวน ตอนนี้หนูอยากจะเป็นหมอเพื่อที่จะได้มาดูแลพ่อแม่ที่ป่วยและช่วยเหลือคนอื่นๆ”
ส่วนการค้นพบเด็กนอกระบบ ด.ญ.จรรยา คงศรี อายุ 15 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดกำแพง ที่ออกจากการศึกษากลางคันมานานหลายปี เพราะมีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลสถานศึกษา โดยพบว่าครอบครัวนี้มีลูกสาว 3 คน ไม่ได้เรียนหนังสือจนจบ ป.6 เลยสักคน เพราะไม่มีเงินเหลือจาการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันพอที่จะส่งลูกไปเรียนหนังสือ โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าได้ไปสอบถามความต้องการเพื่อให้ครอบครัวนี้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด ซึ่งน้องจรรยาได้ตัดสินใจกลับเข้าเรียน กศน. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันและเพื่อให้มีเวลาในการช่วยครอบครัวหารายได้
นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณีศึกษาเป็นตัวอย่างหนึ่งในเด็กไทยจำนวนกว่า 4.3 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนเพื่อให้ได้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นในรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาและพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งกองทุนฯ มีนโยบายที่สำคัญ 3 ข้อคือ 1.พยายามกำจัดอุปสรรค์ที่ทำให้เด็กไม่ได้เข้ามาเรียน ซึ่งจากการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์พบว่า นอกจากปัญหาความยากจนแล้วก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาความยากจนมากให้ยิ่งขึ้น 2.การมาโรงเรียนจะต้องทำให้เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เป็นสถานที่ๆ เด็กอยากมาเรียนแล้วก็สามารถเรียนได้ดี ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับบทบาทของครู และบุคลากรด้านการศึกษาในการที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยแก่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และ 3.คือเด็กที่ยากจนแต่มีศักยภาพสูงก็ควรจะได้รับทุนสนับสนุนในการที่จะได้เรียนสูงขึ้นไปตามศักยภาพ
“ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำฝังรากลึกในประเทศไทยหลายทศวรรษ ปัจจุบันไทยก็เป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงรองจากรัสเซียและอินเดีย การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ว่าแค่ตั้งกองทุนขึ้นมาแล้วปัญหาจะหมดไปทั้งหมด กสศ. ทำได้เพียงเป็นเจ้าภาพในการชวนคนในสังคมมาร่วมกันทำงาน เพราะการแก้ปัญหาด้านการศึกษาเพียงมิติเดียวไม่ตอบโจทย์ปัญหาในชีวิตจริงของเด็กทั้งหมด มีทั้งเรื่องของความยากจน ปัญหาสุขภาพ ความปลอดภัยฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมกันได้ ซึ่ง กสศ. จะพัฒนาฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคนอย่างละเอียดและแบ่งปันข้อมูลให้กับส่วนงานราชการต่างๆ ในการที่จะเข้าไปทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในจุดเดียวกันเพื่อร่วมกันสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยตามพันธกิจของกองทุนฯ” ผู้จัดการ กสศ.กล่าวสรุป.