ครุศาสตร์ มสด.ร่วมกับสวนดุสิตโพล เปิดผลวิจัยสอบเข้าป.1 นักวิชาการไม่เห็นด้วย 100 %การสอบเข้า ชี้ส่งผลพัฒนาการเด็ก พบหลายโรงไม่ให้เด็กนอนกลางวันเอาเวลาไปติว กวดวิชาต่อปีเกิน1แสน แนะใช้วิธีหลากหลายคัดเด็กตามความเหมาะสม
วันนี้(6ก.ย.)ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต(มสด.)ได้มีการแถลงข่าวการวิจัยเรื่อง ผลจากระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อตัวเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน รวมทั้งหาแนวทางในการคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยผศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มสด.ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยผลจากระบบการสอบคัดเลือกฯ กล่าวว่า สถาบันการวิจัยและพัฒนา สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และสวนดุสิตโพล ได้ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยการสัมภาษณ์และแบบสอบถามในเชิงลึกและเชิงกว้าง กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักวิชการ ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครองและเด็ก ผลวิจัยพบว่านักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วย 100 % กับการให้เด็กสอบเข้าป.1 ผู้บริหารโรงเรียน ไม่เห็นด้วย 75 % เห็นด้วย 25% ครูอนุบาลไม่เห็นด้วย 58 % เห็นด้วย 42 % และผู้ปกครองไม่เห็นด้วย 48.23 % เห็นด้วย 51.11% เหตุผลที่เห็นด้วยกับการสอบ คือเด็กได้ฝึกทักษะทางวิชาการ เพื่อเตรียมตัวสอบ การสอบทำให้โรงเรียนประถมศึกษาสามารถจัดเด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงกันไว้ห้องเดียวกัน เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษาต่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการสอบคือ การสอบไม่สามารถประเมินความสามารถของเด็กได้ครอบคลุมทุกด้าน การสอบไม่สอดคล้องกับหลักการทางการศึกาปฐมวัย และการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เด็กเกิดความกดดันและความเครียด และเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัย
ผศ.ดร.ชนะศึก กล่าวต่อไปว่า ส่วนระบบการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อป.1 มีผลต่อตัวเด็ก 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม-จิตใจ และสติปัญญา โดยนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการสอบทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาทางด้านร่างกาย และน่าตกใจโรงเรียนหลายแห่งไม่ให้เด็กนอนกลางวัน เพราะเอาเวลานอนไปติวให้แก่เด็ก เพื่อเตรียมตัวสอบเข้า ป.1 ส่วนผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ คือเด็กเกิดความกดดัน เครียดสะสมบางคนถึงอาเจียน ทำให้ความสุขของเด็กลดลง กรณีที่เด็กสอบไม่ได้จะรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถทำให้ผู้ปกครองดีใจ เกิดความผิดหวังเพราะถูกตัดสิทธิ์ตามข้อตกลงกับผู้ปกครอง และนำไปสู่การทำลายความมั่นใจของเด็ก ส่วนพัฒนาการด้านสังคม ผลเชิงบวกเด็กมีโอกาสรู้จักกับเพื่อนใหม่ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แต่เกิดผลเชิงลบ เด็กขาดโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพราะมุ่งเน้นฝึกทำข้อสอบ ปลูกฝังลักษณะนิสัยชอบเอาชนะ ด้านพัฒนาการสติปัญญา ผลเชิงลบ เด็กเรียนรู้แต่การท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ ทำให้สมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับวัยของเด็ก
ผศ.ดร.ชนะศึก กล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบการสอบที่มีต่อครอบครัวคือ การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวลดลง ครอบครัวต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากจ่ายค่าเรียนพิเศษ หรือการกวดวิชา บางครอบครัวเสียค่ากวดวิชา เพื่อเตรียมสอบเข้าเกิน 100,000 บาท ต่อปี ขณะที่ผลกระทบต่อโรงเรียนคือ โรงเรียนอนุบาล ต้องปรับรูปแบบการสอนโดยเพิ่มเนื้อหาวิชาการมากเกินไป โรงเรียนต้องเตรียมตัวเด็กโดยการจำลองสถานการณ์ในการสอบทำให้การทำกิจกรรมลดลง เพราะเป็นความต้องการของผู้ปกครอง ครูต้องเพิ่มหน้าที่ในการเตรียมตัวในการสอบให้กับเด็กทั้งในวันปกติและวันหยุด ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาเด็กมีพฤติกรรมต่อต้านการเรียน เรียนรู้เพื่อทำข้อสอบ ไม่สามารถปรับประยุกต์ความรู้ที่เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
“สำหรับข้อเสนอและแนวทางในการคัดเลือกเด็กเข้าป.1 มีความหลากหลาย เช่น การประเมินพัฒนาการและสมรรถนะของเด็กตามวัย การรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ/ใกล้บ้าน การจับฉลาก การสัมภาษณ์เด็ก การทดสอบ การสัมภาษณ์พ่อแม่ และผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามในการคัดเลือกเด็กเข้าป.1นั้นยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด โรงเรียนควรใช้วิธีที่หลากหลายในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อ และการใช้วิธีการทดสอบควรอยู่ในมาตรฐาน หรือเกณฑ์การพัฒนาตามความพร้อมในแต่ละช่วงวัย”ผศ.ดร.ชนะศึก กล่าว
ด้านรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี อดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสอบเกิดผลกระทบชัดเจนกับเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูก 2 คน คือ ลูก 1 คนสอบติด แต่ลูกอีกคนสอบไม่ติด และจากประสบการณ์พบเด็กน่าสงสารมาก อายุ 3 ปี แต่เล่นไม่เป็น เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับลูก ทำให้เด็กเวลาไปเล่นกับเด็กคนอื่นจะเล่นแรงมาก เพราะไม่รู้ว่าควรจะเล่นขนาดไหน สุดท้ายเด็กเป็นจำเลย.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2561